ปมดราม่าอดีตนักบินการบินไทย อดีตผู้บริหารฝ่ายบินมองใครถูกใครผิด

21 มี.ค. 2564 | 09:05 น.

กัปตัน โยธิน ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารฝ่ายบิน การบินไทย โพสต์แสดงความคิดเห็นปมดราม่า บรรทุกน้ำมันการบินไทย-อดีตนักบิน ใครผิด-ใครถูก

จากกรณีการซัดกันนัวระหว่างการบินไทยและนายแพทย์กรพรหม แสงอร่าม หรือกัปตันต้วง (ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก) ซึ่งเป็นอดีตนักบินการบินไทยเพิ่งจะยื่นขอเออร์รี่รีไทร์ ปมเรื่องของการบรรทุกน้ำมัน ทำให้ได้รับคะแนนประเมินต่ำ จึงทนไม่ไหวและตัดสินใจลาออกไปนั้น

ล่าสุดกัปตัน โยธิน ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารฝ่ายบิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ผ่านเฟสบุ๊กของตัวเองว่าได้อ่านบทความใน FB เรื่องนักบินบางท่านลาออก เพราะมีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประเมินผลการปฏิบัติงาน เช่น ถูกตัดคะแนน เพราะบรรทุกน้ำมันมากกว่า ที่กำหนดในแผนการบินในเที่ยวนั้นๆ (Flight Plan)

กัปตัน โยธิน ภมรมนตรี

คำถามแรก คือ “เป็นการกระทำที่ผิดต่อหน้าที่หรือ ไม่”  คำตอบคือ “ไม่ผิด” ถ้าไม่ผิด และไปลงโทษโดยการตัดคะแนน เขาได้อย่างไร

คำถามต่อไป การขอน้ำมันเพิ่มเป็นจำนวนมาก ผิดปกติ ไหม คำ ตอบ คือ “ผิดปกติ”

ถ้าผิดปกติ แล้วผู้บังคับบัญชา เช่น หัวหน้านักบิน (Chief Pilot) ได้มีการเรียกนักบินผู้นั้น มาให้เหตุผลของการ สั่งน้ำมันเกินความต้องการเป็นจำนวนมาก เพราะเหตุใด หรือไม่ ถ้าไม่ได้เรียกมาถือว่าเป็นการ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”

แต่ถ้าได้เรียกมาสอบถามแล้ว และเหตุผลที่ได้รับ เป็นเหตุผลที่ไม่สามารถรับฟังได้  ได้มีการตักเตือน และได้มีการติดตามการกระทำดังกล่าวของกัปตันคนดังกล่าวหรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำก็ต้องถือว่าเป็นการ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”

แต่ถ้าได้ติดตามตรวจสอบแล้วยังพบว่า กัปตันคนดังกล่าว ยังคงดำเนินการสั่งน้ำมันเพิ่มโดยไร้เหตุผล ได้มีการลงโทษ การกระทำแล้วหรือยัง ถ้า “ยัง” คำถามต่อไปคือ “ทำไมไม่ดำเนินการ”

การให้น้ำหนักแต่ละข้อ ในการประเมินคุณภาพและวิสัยทัศน์ ของพนักงานเป็น เรื่อง ละเอียดอ่อน เช่น เป็นกัปตัน มา 1-5 ปี ได้ ‘หนึ่ง’ คะแนน คนที่เป็นมา 6-10 ปี ให้เพิ่มเป็น ‘สอง’ คะแนน น้ำหนักที่กำหนดนี้มันเหมาะสมหรือ ถ้าปรับเปลี่ยนการให้คะแนน เป็นปีละคะแนน ก็คงจะไม่มีใครร้องเรียน เรื่องความไม่เป็นธรรม

สำหรับในส่วนที่กัปตันหมอ เขียนบทความใน FB เรื่อง “เกือบน้ำมันหมด” อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจอะไรผิดไปมาก เสมือนนักบินบินกันอย่างไรจนน้ำมันเกือบหมด ผู้โดยสารฟังแล้วสะดุ้งกัน ก็ไม่ต่างอะไรกับอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบว่า คนไข้ได้รับการผ่าตัดเสร็จสิ้น พอได้ยินหมอพูดว่า “แหม..เลือดเกือบไม่พอ เดชะบุญการผ่าตัดเสร็จทันพอดี” ตัวคนไข้ และญาติคงขนหัวลุกกันเป็นแถวหากได้ยินเช่นนี้ ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาก็ไม่ควรพูดเช่นนั้น

ปมดราม่าอดีตนักบินการบินไทย อดีตผู้บริหารฝ่ายบินมองใครถูกใครผิด

จึงอยากขอขยายความในเรื่องนี้เพราะ นักบินเองก็ต้องไม่ลืม เรื่องข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย , FAA และ EASA ที่ได้วางมาตรฐานข้อกำหนดเดียวกันหมด เช่นกัน

‘ผู้ควบคุมอากาศยาน (กัปตัน) เป็นผู้ตรวจเช็คสภาพอากาศ และประเมินสภาพอากาศก่อนทำการบิน และห้ามทำการบิน นอกเสียจากได้ทำการตรวจสอบแล้วว่า น้ำมันบนเครื่องบิน มีจำนวนเพียงพอสำหรับเที่ยวบินนั้น ๆ’ (ดังภาพประกอบ) ผู้โดยสารจึงยังคงมั่นใจได้ว่า ทุกเที่ยวบิน

นักบินทุกคนจะไม่มีใครเอาน้ำมันไปต่ำกว่าข้อกำหนดที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพียงแต่ในภาวะเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจทำให้น้ำมันที่บรรทุกไปนั้น ไม่เป็นไปตามแผนการบินที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุสภาพอากาศ หรือ ความหนาแน่นของการจราจรทางอากาศก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม หากแต่ตัวนักบินที่ไม่นำปัจจัยลบรอบด้านมาใช้ในการพิจารณาสั่งน้ำมัน กลับสั่งน้ำมันด้วยเหตุผลที่ไม่เพียงพอ เช่น สั่งน้ำมันเกินไปเที่ยวบินละหลายตัน ทุกเที่ยวบินของเขา เช่นนี้ก็เป็นการไม่ถูกต้องด้วยประการทั้งปวง ซึ่งถือเป็นเรื่อง “ผิดปกติ”

การประเมินผลปฏิบัติงาน ของพนักงาน เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ อนาคต ของพนักงาน ต้องใช้บุคลากรที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยตรง ความเป็นธรรมจึงจะเกิดขึ้น ประเด็นของปัญหาในเรื่องนี้ พอจะสรุปได้ ในแง่มุมของฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการกำหนดนโยบายโดยไม่สร้างความสมดุลระหว่าง การบริหารเชิงพาณิชย์ กับ ความปลอดภัย แล้ว ปัญหาเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาดั่งเช่นที่เป็นอยู่เวลานี้

นักบินบริหารที่ดูแลเรื่องนี้ จำต้องแยกแยะเรื่องการสร้างสมดุลดังกล่าวให้ถูกต้อง บางท่านเกรงว่า ถ้าปล่อยไปโดยไม่เข้มงวด คณะกรรมการบริหารของบริษัทก็จะเพ่งเล็งมาที่ตัวท่าน และตำแหน่งของท่าน ในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปต่อปี มองในการประหยัดค่าใช้จ่าย (Economy) จึงต้องหันมาบีบนักบินให้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของเชื้อเพลิงน้ำมันนี้ ด้วยวิธีการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

จุดปัญหาตอนนี้คือ การนำสิ่งนี้มาใช้ในการประเมิน จึงมองในแง่มุมที่ว่า เป็นการลดทอน อำนาจหน้าที่ของนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน หรือไม่ ทุกคนย่อมมีเหตุผลที่ชี้แจงได้ หากไม่ใช่เป็นการสั่งโดยไร้เหตุผลเพียงพอ การประเมินดังกล่าวน่าจะเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริง เสมือนมีนัยยะแอบแฝงว่า นักบินที่สั่งน้ำมันตามแผนการบิน โดยไม่มี Extra fuel เลย ก็คงจะได้คะแนนที่สูงที่สุด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้

ถือเป็นอันตรายอย่างมากในแง่มุมของการปฏิบัติการบินที่ นำเรื่อง Economy นำหน้า Safety เพื่อผลพวงของตำแหน่งบริหารหรือไม่ เป็นสิ่งที่คิดกันไปได้ต่าง ๆ นานา เพราะในความเป็นนักบินอาชีพย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า ควรจะบริหารจัดการกับการปฏิบัติการบินในแต่ละเที่ยวบินอย่างไร ไม่ควรตอบโจทย์ฝ่ายบริหารระดับสูง (ที่ไม่ใช่นักบิน) ด้วยตัวเลขค่าใช้จ่ายในลักษณะเช่นนี้

‘ไม่มีน้ำมัน นักบินก็คือ มนุษย์เดินดิน’ ‘Without fuel, pilots become pedestrians’

CR.เฟซบุ๊กกัปตันโยธิน ภมรมนตรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :