“สสว.” เล็งออก “คนละครึ่ง” ภาค SMEs

28 ธ.ค. 2563 | 10:10 น.

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่า แนวทางการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SMEs) ผ่านระบบผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service : BDS) หรือการจ่ายคนละครึ่งภาค SME ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้ความช่วยเหลืออุดหนุนจากเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านระบบผู้ให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ พ.ศ........... และคาดว่า จะนำสามารถนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมส่งเสริม สสว. ได้ภายในเดือนมีนาคม 2564
              ทั้งนี้  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งเป็นแผนที่จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากสถานการณ์โรคไวรัส โคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (Covid-19) ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

สำหรับสาระสำคัญของแผนการส่งเสริมฯ คือ เพื่อให้เอสเอ็มอี ไทยสามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์โควิด-19 โดยมีแนวทางดังนี้ 1.การบรรเทาปัญหาและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น ส่งเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี ,2.การสร้างความพร้อมให้เอสเอ็มอีในการเข้าสู่การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ เช่น ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและธุรกิจ และ 3.การปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เกิดความสะดวกแก่เอสเอ็มอีในการประกอบธุรกิจ เช่นปรับแก้กฎหมายเพื่อลดอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ

“สสว.” เล็งออก “คนละครึ่ง” ภาค SMEs
              ,2.เห็นชอบแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดยอม พ.ศ 2564-2565 และข้อเสนอโครงการและงบประมาณฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานและบูรณาการร่วมกัน ซึ่งมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหาร สสว. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 จำนวน 114 โครงการ งบประมาณ 5.33 พันล้านบาท

,3.เห็นชอบเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินสนับสนุนงบประมาณโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย จากเดิม เป็นไปตามมาตรา 34(3 ) จัดสรรงบประมาณให้เอสเอ็มอีโดยตรง เป็นมาตรา 34(2) จัดสรรเงินกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านหน่วยงานร่วมดำเนินการ (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.) งบประมาณ 5 พันล้านบาท
              อย่างไรก็ดี  โครงการส่งเสริม SMEs ที่สำคัญในปีงบประมาณ 64 ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early State/Start up) ดำเนินการพัฒนาทักษะและยกระดับความเป็นผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจไม่เกิน 3.5 ปี เป้าหมาย 2,800 ราย โดยจะให้ที่ปรึกษาให้คำแนะนำด้านการเงิน การออกแบบและพัฒนาสินค้า ในเอสเอ็มอีภาคการเกษตร ภาคการผลิต ภาคการค้าและบริการ
              ,2.พัฒนาวิสาหกิจรายย่อย (Micro SME) ให้ประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ ส่งเสริมพัฒนาด้านมาตรฐานและตลาดออนไลน์ ให้เอสเอ็มอีรายย่อม รายย่อย วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ โดยเน้นเรื่องการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มีเป้าหมาย 250 ราย และการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง มีเป้าหมาย 6,500 ราย

,3.พัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อม (Small Enterprises หรือ SE) ให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่ ดำเนินการ 3 แนวทางคือ 1.ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต มีเป้าหมาย 3,000 ราย เน้นที่กลุ่ม New S-Curve และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม 2.ส่งเสริมกลุ่ม SE ที่ผ่านการพัฒนาจากโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต จำนวน 100 กิจการ 3.พัฒนาศักยภาพและช่องทางการตลาด สำหรับเอสเอ็มอี เป้าหมาย 1,000 ราย เช่น การจัดงาน SME FEST จำนวน 10 จังหวัด ทั่วประเทศ
              ,4.ส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและสนับสนุนเอสเอ็มอีที่ทำการค้าระหว่างประเทศ เป้าหมาย 2,000 ราย

อย่างไรก็ตาม  ยังมีการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) สร้างตลาดนัดชุมชน เชื่อมโยงกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบกำหนดโจทย์ล่วงหน้าเพื่อให้เอสเอ็มอีรับทราบความต้องการ เตรียมความพร้อมและสามารถวางแผนการผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของผู้ซื้อ คือ กองทัพอากาศและ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ซึ่งในระยะแรก มุ่งเน้นการดำเนินการในอุตสาหกรรมอากาศยานและซ่อมบำรุง