"การบินไทย" ชี้ซ่อมบำรุงเครื่องบิน 81 ลำตลอดช่วงโควิด

22 พ.ย. 2563 | 04:05 น.

"การบินไทย" ชี้ซ่อมบำรุงเครื่องบิน 81 ลำตลอดช่วงโควิด พร้อมบินเมื่อฟ้าเปิด

รายงานข่าวระบุว่า เฟซบุ๊ก Thai Airways ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการโพสต์ภาพและข้อความว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมาวิกฤตโควิด-19 ทําให้สนามบินสุวรรณภูมิที่เคยสว่างไสว จอแจไปด้วยผู้คนนับหมื่นเข้า-ออก หมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง เงียบเหงาแทบจะเป็นสนามบินร้าง เครื่องบินรุ่นต่างๆ จอดต่อแถวกันยาวเหยียดไปทั่วสนามบิน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในวันที่ “ฟ้าปิด” ผู้คนที่ทํางานในแวดวงการบินต่างแยกย้ายกันไป บ้างก็ทํางานจากที่บ้าน (Work From Home) บ้างก็ทํางานอดิเรกแก้เหงา บ้างก็ลงคอร์สเรียนเพิ่มทักษะ หรือทํางานใหม่เพิ่มรายได้ ค่อยๆ ปรับตัวปรับชีวิตเข้าสู่วิถีแบบใหม่ (New Normal) ในขณะที่ชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไป แล้วเครื่องบินที่ทุกๆ วัน เคยบินพาผู้คนมากหน้าหลายตาไปส่งทั่วโลก แต่ต้องจอดนิงสนิทเฝ้าสนามบินล่ะ 10 เดือนผ่านไปเค้าจะเป็นยังไง?

"การบินไทย" ชี้ซ่อมบำรุงเครื่องบิน 81 ลำตลอดช่วงโควิด
              เครื่องบินที่มีแผนให้จอดนานๆ จะเปลี่ยนแผนซ่อมบํารุงตามปกติไปใช้แผนจอดระยะยาวที่เรียกว่า “Longterm Parking Maintenance” ตามคู่มือที่ออกแบบมาจากบริษัทผู้ผลิตอย่างแอร์บัสและโบอิ้งแทน โดยลักษณะงานจะแตกต่างกันไปตามเวลาที่เครื่องลํานั้นวางแผนให้จอด เช่น ถ้าจะจอด 7 วัน ก็เป็นงานทั่วไปพวกตรวจสภาพพื้นผิวภายนอก วัดและควบคุมค่าความชื้นในห้องโดยสาร ชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม ปิดรูต่างๆ รอบตัวเครื่องป้องกันนกหรือแมลงบินเข้าไป ทํารัง

แต่สําหรับลําที่กําหนดให้จอดเกินสัปดาห์ขึ้นไป (14/30/60/90/120/180 วัน) งานก็จะซับซ้อนและใช้ทักษะของช่างมากขึ้น เช่น หล่อลื่นข้อต่อข้อเหวี่ยงทุกจุด ไล่ทั้งลําตั้งแต่หัวถึงหาง เคลือบกันสนิมชิ้นส่วนโลหะภายนอก ใช้น้ำยาพิเศษเคลือบชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์หรือสตาร์ทเพื่อวอร์มอัพเครื่อง ใช้พลาสติกคลุมป้องกันความชื้น ถอดล้อออกมาตรวจเบรกแล้วหมุนเปลี่ยนมุมกันยางเบี้ยว หรือทดสอบ สั่งปิดระบบการทํางานบางอย่าง เป็นต้น

งานเหล่านี้เป็นงานวนซ้ำที่ต้องกลับมาทําอีกครั้งเมื่อครบรอบเวลา เช่น ทุกๆ 7 วันช่างก็จะกลับมาทํา Package 7 Days ซํ้ากันใหม่อีกรอบ (14/30/60/90/120/180 รอบวันอื่นๆ ก็ทําซํ้าเช่นกัน) ตามที่กฎหมายและมาตรฐานการซ่อมบํารุงสากลกําหนดไว้ เช่น FAA ของอเมริกา EASA ของยุโรป JAA ของญีปุ่น ซึ่งคนที่รับผิดชอบทํางานเหล่านี้ก็คือ ทีมช่างเครื่องบิน และทีมวิศวกรของฝ่ายช่างฯ การบินไทยนั่นเอง

ถึงตรงนี้คงได้คําตอบกันแล้ว ว่า ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานั้นเครื่องบินทั้ง 81 ลําของการบินไทย ไม่ได้โดนลืมหรือถูกทิ้งให้จอดเหงาเลย เพราะยังมีทีมช่างเครื่องบิน (ชุดม่วงๆ) คอยผลัดเปลี่ยนแวะเวียนกันไปดูแลตลอด เพื่อเตรียมเครื่องให้พร้อมเสมอ รอขึ้นบินในวันที่ฟ้าเปิด อีกครั้ง