“ทอท.” เล็งกู้เงินในประเทศเสริมสภาพคล่อง

30 ก.ค. 2563 | 12:58 น.

ทอท.อ่วมโควิด-19 เล็งกู้เงินในประเทศเสริมสภาพคล่อง จากผลประกอบการปี63/64 มีแนวโน้มขาดทุน หลังเงินสดลดลงเหลือแค่ 5 หมื่นลบ. หวั่นใช้ได้แค่สิ้นปี 64 แต่ยันไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน

  นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT)  เปิดเผยว่า คาดผลประกอบการงวดปี 62/63 (ต.ค.62-ก.ย.63)​ จะไม่ขาดทุนเนื่องจากในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ จำนวนผู้โดยสารยังคงเติบโตอยู่ในระดับสูง เพราะเป็นช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยวของต่างชาติและในประเทศ โดยปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารปรับเพิ่มมาเฉลี่ยที่ 50,000-80,000 คนต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย.ที่อยู่ในระดับ 2,500 คนต่อวัน แต่ยังคงต่ำกว่าในระดับปกติที่มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 400,000 คนต่อวัน
   แต่ยอมรับว่าในงวดปี 63/64 (ต.ค.63-ก.ย.64)​ มีโอกาสที่ผลประกอบการของบริษัทจะพลิกเป็นขาดทุน เนื่องจากไม่มีช่วง 4 เดือนของฤดูการท่องเที่ยวเหมือนในงวดปี 62/63 เพราะหลายประเทศมีมาตรการ Lock Down จึงทำให้ปริมาณผู้โดยสารลดลงอย่างมาก
     ขณะนี้ ทอท. มีรายรับเข้ามาน้อยมาก จากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงมาก และคาดว่าจะกลับมาปกติได้ในเดือนตุลาคมปี 2565 ดังนั้นในปี 2564 ทอท. มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากการดำเนินการอย่างมาก ขณะที่สภาพคล่องก็อาจจะหมดลงด้วย จากปัจจุบันที่มีเหลือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท อาจทำให้ ทอท. จะต้องเริ่มกู้เงินมาเพื่อใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งอาจเป็นการกู้เงินจากภายในประเทศ แต่ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน   
         อย่างไรก็ ปริมาณเที่ยวบินที่ผ่านเข้าและออกสนามบินสุวรรณภูมิที่ปรับตัวลดลงมาก อาจทำให้สนามบินสุวรรณภูมิต้องพิจารณาปิดพื้นที่อาคารผู้โดยสารบางส่วน เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับปริมาณผู้ใช้บริการ

     ทั้งนี้ บริษัทมีความจำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้ที่ระดับ 70,000-80,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันนี้มีกระแสเงินสดเหลือเพียง 50,000 ล้านบาท และในปี 64 มีแผนที่จะต้องเบิกจ่ายเงินอีก 32,000 ล้านบาท รวมถึงไม่มีเงินที่มาจากการนำส่งรายได้ของผู้ประกอบการสัญญาเช่าพื้นที่จึงทำให้คาดว่าในช่วงสิ้นปี 64 จะขาดสภาพคล่อง

    สำหรับการกู้เงินจะเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือใช้ช่องทางระดมทุนภายในประเทศ และยืนยันว่าบริษัทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน
      ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าบริษัทจำเป็นจะต้องตั้งสำรองหนี้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้สินทางการค้า 700-800 ล้านบาท และหนี้สินที่มีข้อพิพาททางกฎหมายวงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท นั้น บริษัทยังระบุไม่ได้ว่าจะต้องตั้งสำรองภายในงบปี 62/63 หรือไม่