จับตา 5 ธุรกิจมาแรง  เร่งปรับแผนดึงกำลังซื้อฟื้น 

18 ก.ค. 2563 | 02:04 น.

จับตา 5 กลุ่มธุรกิจ “ดีลิเวอรี-สินค้าสุขภาพ-ไฮจีนิค-อีเว้นต์คอนเสิร์ต-เครื่องใช้ไฟฟ้า” บูมครึ่งปีหลัง เหตุพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หันดูแลสุขภาพ ต้องการความสะดวกสบาย และนิว นอร์มอล กลายเป็นปัจจัยบวกที่นักการตลาดต้องใส่ใจ

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศตลอดช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาหดตัวลงในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคบริการ การท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในห้างสรรพสินค้า แต่ทว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ภายหลังสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายหลายฝ่ายต่างออกมาวิเคราะห์และจับตาทิศทางเศรษฐกิจในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ว่านับจากนี้จะเติบโตไปในทิศทางใด โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการชิวิตประจำวันของผู้บริโภค

นางสาวณัฐมน ศาสตรสาธิต ผู้อำนวยการแผนกวางแผนกลยุทธ์และนวัตกรรมเพื่อการสื่อสาร บริษัท เดนท์สุ เอ็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ย่อมจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจและสถานการณ์ต่างๆภายในประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ยังจะเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ที่จะส่งผลดีไปยังหลายอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี

โดยจะมีทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งมองว่ากลุ่มธุรกิจที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นหรือลดลงมีปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นผู้ประกอบการและนักการตลาดจำเป็นต้องปรับแผนให้สอดรับเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

จับตา 5 ธุรกิจมาแรง   เร่งปรับแผนดึงกำลังซื้อฟื้น 

ทั้งนี้มองว่ากลุ่มธุรกิจที่จะมีการเติบโตที่ดีในครึ่งปีหลังนับจากนี้ได้แก่ กลุ่มดีลิเวอรี เนื่องจากตลาดชนชั้นกลางที่หันมาเลือกใช้บริการมากขึ้น จากการะบาดที่ส่งผลต่อการชีวิตให้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานหรือ ขณะที่พฤติกรรมการรับประทานในร้านก็ยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจสุขภาพทั้งสินค้าและภาคบริการ รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขอนามัย (hygienic) ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

ขณะที่นายสมชัย เกตุชัยโกศล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเครื่องดื่ม (liquid refreshment beverage) มูลค่ากว่า 1.55 แสนล้านบาทในช่วง 5 เดือนแรก จะหดตัวลง 7% ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ และไตรมาส 2 ก็ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง เนื่องจากช่องทางการจำหน่ายปิดให้บริการ โดยเฉพาะในช่องทางร้านอาหาร ฟาสต์ฟู้ด ไม่สามารถนั่งทานในร้านได้ รวมถึงการปิดให้บริการผับ บาร์ ซึ่งทั้งหมดมีสัดส่วนยอดขาย 18-20% ขณะที่พฤติกรรการใช้ชีวิตนอกบ้านลดลงก็ส่งผลให้ตลาดเครื่องดื่มได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยในส่วนของตลาดน้ำอัดลมมูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาทติดลบ 2.5% น้อยกว่าเซกเมนต์อื่นในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มด้วยกัน

สมชัย เกตุชัยโกศล

“ภาพรวมอุตสาหกรรมในประเทศช่วงครึ่งปีหลังแม้จะมีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศน่าจะฟื้นตัว แต่ทว่าอาจจะในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ นอก จากนี้ยังมีความวิตกในเรื่องของการระบาดระลอก 2 ที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อเรื่องของกำลังซื้ออในประเทศอีกด้วย”

ด้านนายพัลลภ เชี่ยวชาญวิทยเวช ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท สตีเบล เอลทรอน เอเซีย จำกัด ผู้ผลิตเครื่องทำน้ำอุ่น น้ำร้อน “สตีเบล เอลทรอน” จากเยอรมนี กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเครื่องทำน้ำอุ่นน้ำร้อนเมืองไทยในปีนี้จะติดลบอยู่ที่ราว 10% จากปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 2,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดในช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยลบต่างๆที่เข้ามากระทบซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด19 แต่ขณะเดียวกันตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาภายหลังภาครัฐปลดล็อกดาวน์มาตรการต่างๆลง ภาพรวมตลาดเครื่องทำน้ำอุ่นน้ำร้อนก็เริ่มกลับมาเติบโตดีอีกครั้ง แต่อาจจะยังไม่สามารถทดแทนยอดขายที่หายไปในช่วงของการระบาดได้ 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,592 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563