เปิดพรก. "แบงก์ชาติ" ปล่อยกู้ 5 แสนล้าน ช่วย SMEs

19 เม.ย. 2563 | 11:45 น.

เปิดรายละเอียดพระราชกำหนด ให้ "แบงก์ชาติ" ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5 แสนล้าน ดอกเบี้ย 0.01 ให้สถาบันการเงิน นำไปปล่อยกู้ต่อช่วยเอสเอ็มอี ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2%

 

วันที่ 19 เม.ย. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ “พระราชกําหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” พ.ศ. 2563 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

หมวด 1 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติม ระบุว่า นอกเหนือจากการให้กู้ยืมเงินตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธปท. ให้ธปท. มีอํานาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราว ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ตามที่กําหนดในพระราชกําหนดนี้ อัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี

การให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง อาจทําโดยวิธีการรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่สถาบันการเงินผู้กู้เป็นผู้ออกก็ได้ โดยมิให้นําบทบัญญัติมาตรา 9 (4) แห่งพระราชบัญญัติธปท. พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธปท. (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาใช้บังคับแก่การให้กู้ยืมเงินของธปท.ตามพระราชกําหนดนี้

มาตรา 7 ระบุให้สถาบันการเงินยื่นคําขอกู้ยืมเงินต่อธปท.ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ธปท.ประกาศกําหนด ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่พระราชกําหนดนี้ ใช้บังคับ แต่ในกรณีที่มีความจําเป็นต้องให้ความช่วยเหลือต่อไปและยังมีวงเงินเหลืออยู่ ธปท.จะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกคราวละไม่เกิน 6 เดือนก็ได้แต่ไม่เกิน 2 คราว

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธปท.ประกาศกําหนด และในการให้กู้ยืมเงินธปท.จะกําหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ให้สถาบันการเงินผู้กู้ต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างภาระ โดยไม่จําเป็นในการยื่นคําขอ หรือกําหนดให้ผู้เกี่ยวข้องต้องขออนุญาตใด ๆ

มาตรา 8  ระบุว่า เงินที่สถาบันการเงินได้รับ ต้องนําไปใช้ให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ธปท.ประกาศกําหนด และมาตรา 9 ระบุว่า การให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ สถาบันการเงินต้อง ดําเนินการตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1.วงเงินที่ให้กู้ยืมต้องเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้ คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 แต่ไม่รวมถึงยอดหนี้คงค้างของวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกํากับ วงเงินสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกํากับ และวงเงินสินเชื่อ บัตรเครดิต ทั้งนี้ วงเงินที่ให้กู้ยืมดังกล่าวต้องไม่มีผลกระทบต่อวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่เดิม

2.คิดอัตราดอกเบี้ยในส่วนสินเชื่อเพิ่มเติมตาม (1) สําหรับระยะเวลาสองปีแรก ในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เป็นระยะเวลา 6 เดือนแรกนับแต่วันที่ ผู้ประกอบวิสาหกิจได้รับสินเชื่อเพิ่มเติม  

ดอกเบี้ยที่ไม่เรียกเก็บตาม (2) ให้สถาบันการเงินได้รับการชดเชยพร้อมกับกําหนดการจ่าย เงินชดเชยความเสียหายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธปท.ประกาศกําหนด แลในการให้กู้ยืม ให้สถาบันการเงินได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การจํานองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด และการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ อันเนื่องมาจาก การให้กู้ยืมเงินตามมาตรการในพระราชกําหนดนี้

 มาตรา 10   ให้สถาบันการเงินชําระคืนเงินที่ได้กู้ยืมตามพระราชกําหนดนี้พร้อมดอกเบี้ย แก่ธปท.ภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับเงินกู้ 

ในกรณีที่สถาบันการเงินได้รับความเสียหายจากการให้กู้ยืมเงิน มาตรา 11 ระบุให้สถาบันการเงินที่ได้รับความเสียหายได้รับชดเชยความเสียหายตามที่ธปท.กําหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า (1) ร้อยละ 70 ของจํานวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสํารองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวม ของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตามพระราชกําหนดนี้กับยอดหนี้รวม สําหรับผู้ประกอบ วิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 

(2) ร้อยละ 60 ของจํานวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสํารองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวม ของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตามพระราชกําหนดนี้กับยอดหนี้รวม สําหรับผู้ประกอบ วิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562  โดยวิธีการคํานวณความเสียหายและความเสียหายที่พึงได้รับการชดเชยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกําหนด เมื่อครบ 2 ปี 6 เดือนนับแต่วันที่พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ ให้ธปท.ดําเนินการคํานวณเงินชดเชย แล้วเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อดําเนินการต่อไป

 มาตรา 12 ให้มีคณะกรรมการกํากับการจ่ายเงินชดเชย ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย ผู้อํานวยการสํานักงานบริหารหนี้สาธารณะ และผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการ และให้พนักงานที่ผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทยมอบหมาย เป็นเลขานุการ  โดยให้คณะกรรมการสิ้นสุดลง เมื่อดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการเสร็จสิ้นแล้ว 

คณะกรรมการมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้ 1.กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินชดเชยให้แก่สถาบันการเงิน (2) ตรวจสอบการคํานวณเงินชดเชยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกําหนด  (3) แจ้งให้กระทรวงการคลังทราบถึงจํานวนเงินชดเชยและสถาบันการเงินที่ได้รับเงินชดเชย

ทั้งนี้สถาบันการเงินใดมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความเสียหาย จํานวนความเสียหาย หรือค่าชดเชย ให้เสนอข้อโต้แย้งนั้นต่อคณะกรรมการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการได้รับเงินชดเชย คําวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

หมวด 2 การชะลอการชําระหนี้ ระบุในมาตรา 15 ว่า เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ให้ธปท.มีอํานาจสั่งให้สถาบันการเงินชะลอการชําระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยของผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกินหนึ่ง 100 ล้านบาท หรือลูกหนี้อื่นได้ โดยมิให้ถือว่าเจ้าหนี้ผ่อนเวลาชําระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชะลอการชําระหนี้ ระยะเวลาการชะลอการชําระหนี้ และวิธีการชําระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ชะลอไว้ ให้เป็นไปตามที่ธปท.กําหนด 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในตอนท้ายของพระราชกำหนดระบุหมายเหตุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกําหนดฉบับนี้ คือ โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง และมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องมี มาตรการในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานที่สําคัญของระบบเศรษฐกิจ

โดยการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการชะลอการชําระหนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชําระหนี้ของผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่คาดว่าจะลดลงอย่างรุนแรงจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องมีการดําเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้ภาคธุรกิจเกิดสภาวะการขาด สภาพคล่องหรือผิดนัดชําระหนี้และอาจส่งผลกับฐานะทางการเงินและการทําหน้าที่ด้านสินเชื่อ ของสถาบันการเงิน

อันอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศซึ่งจะทําให้ปัญหา ทวีความรุนแรงและยากต่อการแก้ไขในภายหลัง จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจ จะหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจําเป็นต้องตราพระราชกําหนดนี้

เปิดพรก. "แบงก์ชาติ" ปล่อยกู้ 5 แสนล้าน ช่วย SMEs

เปิดพรก. "แบงก์ชาติ" ปล่อยกู้ 5 แสนล้าน ช่วย SMEs

เปิดพรก. "แบงก์ชาติ" ปล่อยกู้ 5 แสนล้าน ช่วย SMEs

เปิดพรก. "แบงก์ชาติ" ปล่อยกู้ 5 แสนล้าน ช่วย SMEs

เปิดพรก. "แบงก์ชาติ" ปล่อยกู้ 5 แสนล้าน ช่วย SMEs

เปิดพรก. "แบงก์ชาติ" ปล่อยกู้ 5 แสนล้าน ช่วย SMEs