‘อาเซียน’ ตั้งกองทุน ระดมซื้ออุปกรณ์สู้โควิด

16 เม.ย. 2563 | 23:05 น.

“อาเซียนซัมมิต” หนุนตั้งกองทุนรับมือกับโควิด-19 ขณะที่อาเซียนต้า เผยมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของรัฐบาล10 ประเทศ หนุนอาเซียนกู้วิกฤติไวรัส

การประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 บรรดาผู้นำได้สนับสนุนข้อเสนอของไทยเกี่ยวกับการจัดตั้ง “กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19” เพื่อจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน

ทั้งยังเห็นชอบการรับรองปฏิญญาของการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แสดงถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันและกำจัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่คุกคามชีวิตของผู้คน ตลอดจนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก อีกทั้งนายกรัฐมนตรีของไทยยังได้มอบชุดตรวจชนิด RT-PCR ที่ผลิตในประเทศให้ประเทศละ 1 หมื่นชุด เพื่อเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมของอาเซียนในเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบหนักต่อธุรกิจท่องเที่ยวรวมถึงเศรษฐกิจภาพรวมนานกว่า 3 เดือนแล้ว รัฐบาลของ 10 ประเทศอาเซียนต่างงัดมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น

นางมิ่งขวัญ เมธเมาลี ประธานสมาคมท่องเที่ยวอาเซียน หรือ อาเซียนต้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ารัฐบาลต่างๆ ในอาเซียนต่างออกมาตรการเยียวยารับมือผลกระทบของไวรัสที่เกิดขึ้น โดยในส่วนของไทย นอกจากการแจกเงิน 5 พันบาทให้แก่ผู้มีอาชีพอิสระ ซึ่งมัคคุเทศก์ก็เข้าข่ายได้รับเงินนี้การออกซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอี การกันซอฟต์โลนสำหรับธุรกิจท่องเที่ยววงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่อง

สิงคโปร์แจกเงินสดให้คนในประเทศ 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปีนี้ และ 800ดอลลาร์สิงคโปร์ 3 เดือนสำหรับคนที่มีรายได้ตํ่า ซึ่งตกงานจากโควิด-19 เพิ่มการคืนเงินภาษีสำหรับอาคารเชิงพาณิชย์ เช่น โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้าและร้านอาหารจาก 15% หรือ 30% เป็น 100% การคืนเงินภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นสำหรับรีสอร์ตโดยรวมจาก 10% เป็น 60%

การสนับสนุนงานที่เพิ่มประสิทธิภาพ (JSS) โดยรัฐบาลจะจ่าย 25% ของค่าจ้างรายเดือนสำหรับคนงานท้องถิ่นทุกคน เป็นเวลา 9 เดือน จนถึงสิ้นปี และการสนับสนุนจะสูงขึ้นสำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด มากถึง 75% เช่น ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว เป็นต้น

อินโดนีเซีย รัฐบาลเสนอการจ่ายเงินสดเป็นค่าจ้างรายเดือน 3 เดือนสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อเพิ่มกระแสเงินสดในระบบการเงิน ส่วนเมียนมา มีการลดสินเชื่อดอกเบี้ย 1% สำหรับภาคการท่องเที่ยวและเสื้อผ้า

มาเลเซีย ทุกครัวเรือนที่มีรายได้แตกต่างกันจะได้รับเงินช่วยเหลือระหว่าง 200-1,600 ริงกิต การพักชำระเงินกู้ 6 เดือน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีคนงานในท้องถิ่นซึ่งมีเงินเดือนตํ่ากว่า 4,000 ริงกิต จะได้รับเงินอุดหนุนค่าแรงคนงาน ตั้งแต่ 600-1,200 ริงกิตต่อคน ลดค่าไฟฟ้า 15% แก่โรงแรม, ตัวแทนการท่องเที่ยว, สายการบิน,ห้างสรรพสินค้า, ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ ยกเว้นการจัดเก็บกองทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากโรงแรม และ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ยกเว้นภาษีบริการ 6% สำหรับโรงแรม เดือนมีนาคม-สิงหาคม 2563

กัมพูชา ภาคการบินของประเทศได้รับการยกเว้นภาษีขั้นตํ่า 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม 2563) ชะลอการชำระเงินที่ค้างชำระค่าธรรมเนียมการบินพลเรือน 6 เดือน การขยายเวลาการยกเว้นภาษีรายเดือนทุกประเภทสำหรับโรงแรม, เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร และตัวแทนการท่องเที่ยวที่ลงทะเบียนกับกรมสรรพากร 3 เดือน ให้เงินสนับสนุน โดยคิดจากค่าแรงขั้นตํ่า 20% จากรัฐบาลไปสู่คนงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ ซึ่งผู้รับเงินจะต้องเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรม 1-2 สัปดาห์ที่จัดโดยกระทรวงการท่องเที่ยว

ฟิลิปปินส์ ระบบประกันสังคม (SSS) เตรียมเงินทุน 1.2 พันล้านเปโซ ให้พนักงานว่างงานสูงถึง 6 หมื่นคน ขณะที่องค์กรขนาดเล็ก (ที่มีขนาดสินทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านเปโซ) อาจกู้ 10,000 ถึง 200,000 เปโซ และองค์กรขนาดเล็ก (ที่มีขนาดสินทรัพย์ไม่เกิน 10 ล้านเปโซ) อาจกู้ได้สูงสุด 5 แสนเปโซ โปรแกรมนี้จะเริ่มขึ้นเมื่อมีการยกระดับการกักกันโรค พักชำระหนี้เงินกู้ยืมสำหรับองค์กรขนาดเล็ก และเอสเอ็มอี

บรูไน เลื่อนเวลาชำระคืนเงินต้นของเงินทุนหรือสินเชื่อ 6 เดือน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ขนส่งทางอากาศ รวมถึงการขนส่งทางอากาศและทางน้ำได้ส่วนลด 30% สำหรับอัตราค่าเช่าสำหรับอาคารรัฐบาล ส่วนลด 50% สำหรับภาษีนิติบุคคล, บริษัทปี 2563 ส่วนลด 15% ค่านํ้าและค่าไฟฟ้า ชะลอการชำระคืนเงินกู้หรือเงินทุนสำหรับทุกภาคธุรกิจ

เวียดนามเตรียมวงเงิน 27 ล้านล้านด่อง (1.16 พันล้านดอลลาร์) เพื่อเยียวยาผลกระทบ การขยายระยะเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไป 5 เดือนสำหรับธุรกิจในภาคเกษตร ผลิตรองเท้า รถยนต์ การบิน สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ แปรรูปอาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นเงินภาษีราว 974 ล้านดอลลาร์ หน้า 1

ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,566 วันที่ 16 - 18 เมษายน พ.ศ. 2563