ผ่าโรดแมป ลงทุนหมื่นล้าน 'ดิเอราวัณ กรุ๊ป'

28 ก.พ. 2560 | 07:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เป้าหมายแผนลงทุน 5 ปี (ปี2559-2563) ของ “ดิเอราวัณ กรุ๊ป” มูลค่าการลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายจำนวนโรงแรมในมือเพิ่มเป็น 95 แห่ง รวมจำนวนห้องพักมากกว่า 1 หมื่นห้องนั้น หลังจากได้เดินแผนไปแล้ว 1 ปี ใช้งบลงทุนไปราว 900 ล้านบาท ในการเปิดให้บริการโรงแรมฮ็อปอินน์ ในไทย 7 แห่ง และในฟิลิปปินส์ 1 แห่ง แต่เหลือโรงแรมใหม่อีกร่วม 49 แห่ง ภายใต้การลงทุนอีกกว่า 9,100 ล้านบาทที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 4 ปีนี้

 ปีนี้ลงทุน 22 โรงแรม

การมีโรงแรมใหม่มากขนาดนี้ ดิเอราวัณ กรุ๊ป วางกลยุทธการขยายธุรกิจ ภายใต้คีย์ แมสเสจ ที่ว่า “ประเทศไทยยังสามารถที่จะลงทุนโรงแรมเพิ่มเติมได้ แต่ต้องทำให้ถูกเซ็กเมนต์ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องโอเวอร์ซัพพลาย”นี่เองจึงทำให้แผนการลงทุนที่เกิดขึ้นดิเอราวัณ กรุ๊ปจึงโฟกัสการลงทุนโรงแรมในระดับกลางหรือมิดสเกล ,ระดับอีโคโนมี่ ภายใต้การใช้แบรนด์บริหารโรงแรมต่างๆของเชนจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โนโวเทล ,ฮอลิเดย์ อินน์,เมอร์เคียว,ไอบิส และโรงแรมราคาประหยัด ภายใต้แบรนด์ฮ็อป อินน์ ซึ่งเป็นแบรนด์บัดเจด โฮเทล ที่ดิเอราวัณ กรุ๊ป ได้พัฒนาขึ้น

ดังนั้นตามแผนการลงทุนถึงปี2563 ดิเอราวัณ กรุ๊ป จะมีโรงแรมในมือทั้งหมด 95 แห่งลงทุนมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท กว่า 55% เป็นการลงทุนในการสร้างโรงแรมใหม่ในไทย กว่า 30% เป็นการลงทุนโรงแรมในฟิลิปปินส์ อีก 15% เป็นการลงทุนในเรื่องของการปรับปรุงทรัพย์สิน

ทั้งนี้แผนการลงทุนอีกกว่า 9,100 ล้านบาทที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นในปีนี้ การลงทุนจะอยู่ที่ราว 2,200 ล้านบาท และปี2561-2563 อยู่ที่ราว 6,900 ล้านบาท

โดยการลงทุนโรงแรมใหม่ในปีนี้ มีการประกาศชัดเจนแล้วว่าจะมีทั้งหมด 22 แห่ง รวมจำนวนห้องพัก 2,680 ห้อง แต่จะเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้ 8แห่ง โดยเป็นการลงทุนโรงแรมระดับมิดสเกลและอีโคโนมี ในไทย 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรมโนโวเทล+ไอบีส สไตล์ ซอยนานาขนาด 318 ห้อง ลงทุน 900 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการไตรมาส 4 ปี 2561 โรงแรมเมอร์เคียว+ไอบิส สุขุมวิท 24 จำนวน500 ห้อง ลงทุน 1,500 ล้านบาทเปิดให้บริการไตรมาส 4 ปี 2562การลงทุนโรงแรมฮ็อปอินน์ในไทย 12 แห่ง อาทิ ที่เชียงราย,การลงทุนเฟส 2 ที่ลำปาง,นครสวรรค์, หัวหิน, เฟส 2 ที่แม่สอด, ระยอง, บุรีรัมย์, ขอนแก่นและการลงทุนโรงแรมในฟิลิปปินส์20 แห่ง โดยมองโลเกชันไว้ที่Makati, Aseana, Alabang,Quezon City และ Ortigas แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มมองโอกาสในการขยายธุรกิจไปสู่เวียดนามด้วยจะเริ่มเห็นทิศทางการพัฒนาโรงแรมในระดับมิดสเกลและอีโคโนมี ในสไตล์คอมโบ โฮเต็ลสำหรับโรงแรมในกรุงเทพฯ คืออาคารโรงแรมเดียวกัน แต่มี 2โรงแรม ซึ่งเป็นโมเดลที่ ดิเอราวัณกรุ๊ป นำร่องไปแล้วเป็นแห่งแรกคือ โรงแรมเมอร์เคียว+ไอบิสสยามสแควร์ ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จมากจากการขายด้วยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยกว่า 90%เป็นรูปแบบการลงทุนที่คุ้มค่า

นางกมลวรรณ วิปุลากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ดิเอราวัณ กรุ๊ป เผยว่า การลงทุนโรงแรมในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเป็นที่เช่า 30 ปี ทำให้การสร้างอาคารต้องขึ้นอาคารสูง ขนาด 400-500 ห้อง การจะขายแบรนด์เดียวราคาเดียวโดยไม่ต้องพึ่งกรุ๊ปทัวร์เป็นเรื่องยาก แต่เราอยากได้ตลาดที่ราคาดี ซึ่งก็ไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ ดังนั้นการขายแบบมี 2 แบรนด์จะทำให้เกิดช่องทางขายที่มีประสิทธิภาพกว่า ขณะที่ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจก็ไม่สูง เพราะใช้ผู้บริหารคนเดียวกัน ใช้ทีมแม่บ้านเดียวกัน มีที่ต้องแยกก็จะเป็นเรื่องของฝ่ายต้อนรับของโรงแรมเท่านั้น

ทั้งเธอยังมองว่า การที่ดิเอราวัณ ไม่ได้ขยายการลงทุนในระดับลักชัวรี เนื่องจากส่วนหนึ่งเราก็มีอยู่แล้วซึ่งเป็นทำเลที่ตั้งที่ดีมาก และปัจจุบันการลงทุนโรงแรมระดับ 5 ดาว มีข้อจำกัดเรื่องของการลงทุนที่มากกว่า โดยเฉพาะเรื่องของโลเกชัน ที่ต้องดีมากๆ ซึ่งคงหาที่ไม่ได้ง่ายๆเหมือนในอดีต ทั้งยังใช้งบมาก และปัจจุบันมองว่าไม่น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีแล้ว ดังนั้นหากการลงทุนโรงแรม 5 ดาวใช้งบ 5,000 ล้านบาท แต่ถ้าเราเอามากระจายลงทุนระดับ 3-4 ดาว เราก็ลงทุนได้อีกหลายแห่งใช้งบราว 1,000 ล้านบาทต่อแห่งและการลงทุนแบบคอมโบ โฮเต็ล อย่างในเส้นสุขุมวิท เราก็เลือกใช้แบรนด์ระดับมิดสเกล เพื่อไปแข่งขันแบรนด์โรงแรม 5 ดาวที่มีอยู่จำนวนมาก เพื่อเป็นการเจาะตลาดลูกค้าที่แตกต่างกัน ที่เรามองว่ามีการเติบโตที่ดี และมีมาร์จินที่ดีกว่า

  ปักหมุด 50 ฮ็อป อินน์ในไทย

นอกจากนี้ดิเอราวัณ กรุ๊ป ยังมองที่จะขยายเครือข่ายบัดเจด โฮเทล ให้ครบ 50 แห่งภายในปี2563 ภายใต้การลงทุนเฉพาะแบรนด์นี้ในไทยกว่า 3,000 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าหลังจากได้สร้างแบรนด์นี้มาตั้งแต่ปี2557 จนถึงในปี2559 ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ทำมาร์จินได้สูง และเป็นที่รู้จักในตลาดเป็นอย่างมาก จากจำนวนฮ็อป อินน์ ปี2558 จำนวน 15 แห่ง 1,175 ห้อง อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 54% ในปี 2559 เพิ่มเป็น 22 แห่ง 1,716 ห้อง อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มมาเป็น 70% โดยมี RevPar เติบโตถึง 30% ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคอร์ปอเรตกว่า คิดเป็นสัดส่วน 65% นักท่องเที่ยว 21% อื่นๆ10%

ดิเอราวัณ กรุ๊ป มองว่าธุรกิจบัดเจ็ต โฮเต็ล ยังไม่มีผู้เล่นรายใหญ่ มีแต่ระดับท้องถิ่นทำให้ฮ็อป อินน์ จึงเป็นแบรนด์ที่ครอบคลุมจังหวัดต่างๆ มากที่สุดในไทย ทั้งลงทุนเอง และมองโอกาสจะเข้าไปลงทุนพัฒนาภายในสถานีบริการนํ้ามันของปตท.

ทั้งหมดล้วนเป็นยุทธศาสตร์ในการขยายการลงทุนของดิเอราวัณ กรุ๊ป ที่เกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560