ครม.เห็นชอบ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" ส่วนต่อขยายเลี้ยวเข้าเมืองทองธานี

09 ก.พ. 2564 | 07:38 น.

ที่ประชุมครม.เห็นชอบ โครงการ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" ส่วนต่อขยาย ระยะทาง 2.8 กม. จากถนนแจ้งวัฒนะ เข้าเมืองทองธานี

วันที่ 9 ก.พ. 64 เวลา 14.30 น. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช(ถนนแจ้งวัฒนะ) – เมืองทองธานี  ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 4.2 พันล้านบาท

โดยมีแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ช่วงสถานีศรีรัช(ถนนแจ้งวัฒนะ) – เมืองทองธานี  เริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสถานีศรีรัชของสายสีชมพูสายหลัก วิ่งไปทางทิศตะวันตก และเลี้ยวขวาเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา จนสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี

ด้าน น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี  

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้รายงานว่า ได้ส่งเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาร่วมลงทุนฯโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯฉบับแก้ไข ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งแจ้งผลการพิจารณากลับมาว่า เอกสารแนบท้ายดังกล่าวเป็นเอกสารทางเทคนิคในสาระสำคัญ ไม่ใช่เอกสารทางกฎหมาย  สำนักงานอัยการสูงสุดจึงไม่อาจตรวจพิจารณาได้  และเป็นหน้าที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน ซึ่งเมื่อตรวจสอบเอกสารแนบท้ายสัญญาต่างๆแล้วมีรายละเอียดไม่ขัดหรือแย้งกับสัญญา ที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาซึ่งเป็นไปตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดครบถ้วนแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดก็ไม่มีข้อขัดข้องแต่อย่างใด

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า อยู่ในอำนาจที่ครม.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการแก้ไขสัญญาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและประโยชน์ต่อสาธารณะ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ทางรฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBMผู้รับสัมปทาน ได้ดำเนินการเจรจาต่อรองเงื่อนไขต่างๆของโครงการฯ เพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการ พร้อมทั้งเสนอคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้รฟม.และ NBM ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี  เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ซึ่งสัญญาได้ระบุเกี่ยวกับข้อเสนอของผู้รับสัมปทานในชั้นการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ที่เสนอจะก่อสร้างส่วนต่อขยายแยกออกจากเส้นทางสายหลักเพื่อเชื่อมต่อสถานีศรีรัชเข้าสู่ใจกลางพื้นที่เมืองทองธานี ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร มี 2 สถานี โดยได้ระบุไว้ว่า

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมสัญญานี้คู่สัญญาต้องเจรจาเงื่อนไขต่างๆที่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ แต่ต้องไม่ทำให้รฟม.ได้รับสิทธิตามสัญญาน้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม ซึ่งรฟม.ได้ศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี พบว่า โครงการเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของรฟม.รวมทั้งเป็นประโยชน์สาธารณะ และสอดคล้องกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในภาพรวม
 

ส่วนแนวเส้นทางโครงการส่วนต่อขยาย มีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะเชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช(PK-10)ของโครงการส่วนหลัก ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานีไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-01 และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-02 ระยะเวลาก่อสร้าง 37 เดือน เปิดให้บริการ เดือนกันยายน 2567 กรอบวงเงินลงทุน  4,230.09 ล้านบาท  มีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ หรือ EIRR ร้อยละ 12.9 ผลตอบแทนด้านการเงิน หรือ FIRR ร้อยละ 7.1 ประมาณการผู้โดยสาร ณ ปีที่เปิดให้บริการ 13,785 คน-เที่ยว/วัน 

หลังจากที่การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้วเสร็จ รฟม.จะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ และการขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งมอบให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายตามแผนงานต่อไป 

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขสัญญาประกอบด้วย  ประเด็นเรื่องการปรับปรุงรูปแบบสถานีศรีรัช NBMยอมรับในการดำเนินการก่อสร้างสถานีศรีรัช รวมทั้งส่วนปรับปรุงและรับผิดชอบค่าก่อสร้างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงงานทั้งหมด ประเด็นเรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่รฟม.ตามสัญญาร่วมลงทุน ทาง NBM ยังคงชำระค่าตอบแทนให้แก่รฟม. ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก และจะชำระผลตอบแทนเพิ่มเติมกรณีรวมโครงการส่วนหลักและส่วนต่อขยายให้แก่รฟม.โดยอ้างอิงปริมาณผู้โดยสารในสัญญาโครงการส่วนหลัก  ประเด็นอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสาร ทางNBM ยอมรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการส่วนต่อขยายให้สอดคล้องตามหลักการในสัญญาโครงการส่วนหลัก 

ส่วนประเด็นเรื่องการดำเนินโครงการส่วนต่อขยายจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาโครงการส่วนหลัก ทางNBM ยอมรับให้คงระยะเวลาดำเนินโครงการส่วนหลักในระยะที่ 1 และ 2 ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก ถึงแม้จะมีการก่อสร้างของโครงการส่วนต่อขยาย ประเด็นเรื่อง การให้รฟม.มีส่วนแบ่งผลตอบแทนจากการเชื่อมต่อกับอาคารและพื้นที่ของเมืองทองธานี NBMจะดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากรฟม.ก่อน และสิทธิในรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์รวมถึงการเชื่อมต่อ เป็นไปตามสัญญาส่วนหลัก  และประเด็นผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย ทาง NBMจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆทั้งหมด ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รถไฟฟ้า สายสีชมพู-สายสีเหลือง มี “รางเดียว แคบๆ” ถ้า “เดี้ยง” ผู้โดยสาร ต้องทำอย่างไร?

เราชนะ เปิดวิธีใช้สิทธิ ขึ้นรถไฟฟ้า-แท็กซี่-รถเมล์

เคลียร์ค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เปิด 6 ข้อเสนอ สภาคุ้มครองผู้บริโภค ชงครม.

คนกรุงมีเฮ ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่เกิน 59 บาท