พาณิชย์สั่งรุกหนัก ส่งออกผลไม้ไปจีน ดันภาพรวมโต1.5แสนล้าน

13 มิ.ย. 2564 | 21:30 น.

พาณิชย์ สั่งรุกหนักตลาดจีน หลัง 4 เดือนยอดส่งออกจีนพุ่ง 21% ชี้เฉพาะผลไม้ยังมีโอกาสขยายตัวสูง เล็งเป้าปีนี้ส่งออกทุกตลาด 1.5 แสนล้าน แนะเกษตรกร-ผู้ส่งออกศึกษากฎระเบียบ มาตรการขนส่งสินค้าไปแดนมังกร หลังยุคโควิดทวีความเข้มข้น 

4 เดือนแรกปี 2564 ส่งออกไทยไปจีนขยายตัวสูงถึง 21% ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อากาศยานและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้เฉพาะการส่งออกผลไม้ซึ่งมีตลาดหลักที่จีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (การส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งของไทยภาพรวมทุก
ตลาด 4 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกแล้ว 4.4 หมื่นล้านบาท โดยส่งออกไปจีนสัดส่วน 80%) คาดปีนี้จะทะลุเป้าที่วางไว้ 1.5 แสนล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 17% อย่างไรก็ดีหลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ มีผลให้ประเทศผู้นำเข้าเกิดความกังวลเรื่องการขนส่งและการปนเปื้อนชื้อโรค

ทั้งนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับมาตรการ กฎระเบียบต่างๆ ในการขนส่งผลไม้ไทยข้ามแดนไปยังประเทศจีนให้มีความคล่องตัวและสะดวกยิ่งขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง และไทยก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ซึ่งการขนส่งระหว่างประเทศในช่วงแรกอาจจะติดขัด เนื่องจากการปิดด่านต่าง ๆ แต่ปัจจุบันถือว่าหลายด่านมีการผ่อนปรนมากขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าไปยังจีนสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ โดยจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยมาตลอด 8 ปี หนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ผลไม้ ซึ่งการส่งผลไม้ข้ามแดนไปยังประเทศคู่ค้าในไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่าถึง 8,145 ล้านบาท 

พาณิชย์สั่งรุกหนัก  ส่งออกผลไม้ไปจีน  ดันภาพรวมโต1.5แสนล้าน

อย่างไรก็ดี แม้การขนส่งสินค้าข้ามแดนจะดำเนินการได้ แต่ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างเส้นทางการขนส่งได้ออกมาตรการและกฎระเบียบในการขนส่ง เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การขนส่งสินค้าจึงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว ต้องใช้เวลามากขึ้น การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะสำหรับผลผลิตที่กำลังจะออกมาในฤดูกาลต่อ ๆ ไป

“สำหรับการนำเข้าผลไม้ของจีนและสินค้าอื่นๆ สิ่งที่ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยต้องเตรียมตัว เช่น การยื่นขอใบรับรองสุขอนามัยพืช ประเภทเอกสารที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับส่งออกสินค้าผลไม้ และข้อควรระวังต่างๆ ตัวอย่างการขนส่งสินค้าผลไม้ผ่านทางด่านโหย่วอี้กวน มีระบบและขั้นตอนภายในด่าน การสุ่มตรวจสินค้าโดยศุลกากรจีน เพื่อตรวจศัตรูพืชกักกัน กรดนิวคลีอิค และเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้น”

ทั้งนี้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาด่านโหย่วอี้กวนเกิดความแออัด เนื่องจากปริมาณรถขนส่งผลไม้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปกติ และมาตรการรองรับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้การขนส่งสินค้าล่าช้า สินค้าเสียหาย โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ได้แนะนำเส้นทางในการขนส่งทางเลือกเพื่อลดความแออัด เช่น การขนส่งผ่านด่านหม่องก๋ายในเวียดนามเพื่อส่งต่อไปจีน เป็นต้น

ด้านนายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่าผู้ ประกอบการยังสามารถใช้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลจีนผลักดันเมืองหนานหนิงให้เป็นจุดกระจายสินค้าทั้งภายในประเทศจีน ภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรป รวมทั้งโครงการ The China- ASEAN Agricultural Product Distribution Center ซึ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรกระจายสินค้าในประเทศจีนได้รวดเร็วขึ้น

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,687 วันที่ 13 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564