"ชายแดนใต้+4อำเภอสงขลา"เฮ เว้นค่าธรรมเนียมโรงงานอีก5ปี

09 มิ.ย. 2564 | 07:07 น.

ราชกิจจานุเษกษา เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงอุตสาหกรรมยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ใน 4 อำเภอของ 4 จังหวัดชายแดนใต้

รายงานข่าวระบุว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งโรงงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส  จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา เฉพาะในเขตท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย พ.ศ. 2564 โดยสาระสำคัญ ว่า

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และมาตรา 43 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 เป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งโรงงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลาเฉพาะในเขตท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย ดังต่อไปนี้

 (1) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ขยาย โรงงาน ค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมการแจ้ง กรณีได้รับยกเว้นการขยายโรงงานหรือกรณีลดหรือเพิ่มเครื่องจักรแต่ไม่เข้าข่ายขยายโรงงาน หรือ การเพิ่มเนื้อที่อาคารโรงงานหรือการก่อสร้างอาคารโรงงานเพิ่มขึ้น แล้วแต่กรณี

(2) ค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามกำหนดเวลาที่ต้องชำระ

ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมกิจการให้เกิดขึ้นในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา เฉพาะในเขตท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จำพวกที่ 2 ที่โรงงานตั้งอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐมนตรีแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 11/1 ในเขตท้องที่ดังกล่าวนั้นด้วย

ให้ไว้ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ลงนามโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

"ชายแดนใต้+4อำเภอสงขลา"เฮ เว้นค่าธรรมเนียมโรงงานอีก5ปี

"ชายแดนใต้+4อำเภอสงขลา"เฮ เว้นค่าธรรมเนียมโรงงานอีก5ปี

 

 


    
การขยายการยกเว้นค่าธรรมโรงงานอีก 5 ปี เป็นหนึ่งในมาตรการส่งเสริมการลงทุนและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี  ยะลา และ 4อำเภอในจังหวัดสงขลา คือ จะนะ  เทพา นาทวี และ สะบ้าย้อย ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 และครบกำหนด 5 ปีภายในปี 2563  ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) มีมติเสนอครม.ที่เห็นชอบขอขยายเวลามาตรการออกไปอีก 5 ปี 
    

เมื่อ 7 ม.ค. 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง ลดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ พ.ศ.2563  โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงนาม  ให้ลดอัตราค่าธรรมเนียม และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสาร พร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด พ.ศ.2563 ลงกึ่งหนึ่ง สำหรับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย และจังหวัดสตูลตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 - 31 ธันวาคม 2566
    

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมครม.อนุมัติหลักการการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง การอนุญาตจัดตั้งและการเลิกดำเนินการเขตปลอดอากร พ.ศ. 2560 และแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร พ.ศ. 2560  ทำให้อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ได้รับการขยายผลเป็นเมืองต้นแบบที่ 4 โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพิ่มเติมจากอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเขตปลอดอากรด้วย 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือ สร้างความจูงใจในการลงทุนในพื้นที่ จชต. ดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยคณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบหลักการ มาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. คือ พื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา เฉพาะทางที่อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย และจังหวัดสตูล ได้แก่ 
    

มาตรการเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและจูงใจสำหรับผู้ประกอบการ โดยมาตรการสร้างหลักประกันทางสังคมสำหรับแรงงาน และมาตรการเพื่อสร้างขวัญกำลังใจสำหรับประชาชน 
    

มาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประชาชน และสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ จชต. โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับโครงการลงทุนใหม่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดหย่อนภาษี ลดหย่อนอากรขาเข้า ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม เป็นต้น
    

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม 
    

ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาตรการโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จชต. ของธนาคาร ธ.ก.ส. โครงการสินเชื่อสำหรับ จชต. ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น 
    

ในแต่ละมาตรการและโครงการมีหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการและประชาชน ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในพื้นที่ จชต. ทั้งสิ้น โดยมาตรการที่มีกรอบเวลา 5 ปีที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี  2559 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งศอ.บต.มีมติเสนอครม.ขอขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไปอีก 5 ปี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง