รง.ไก่ป่วนขาดแรงงานกว่าหมื่นคน ทำรับออร์เดอร์สะดุด-จี้รัฐปลดล็อก

08 เม.ย. 2564 | 20:30 น.

โรงงานแปรรูปไก่ส่งออกร้องระงม ตู้คอนเทนเนอร์ขาด ค่าระวางพุ่ง เอเย่นต์เรือได้ทีโขกราคาเหยียบหลักหมื่นดอลลาร์ต่อตู้ ขณะขาดแคลนแรงงานอ่วมกว่า 1 หมื่นคนทำรับออร์เดอร์สะดุด จี้รัฐปลดล็อกนำเข้าแรงงานต่างด้าว

การส่งออกสินค้าไก่ของไทยในปีที่ผ่านมาขยายตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี จาก 3 ไตรมาสแรกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด ทำให้ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคบริโภคหลักสินค้าไก่ใน 2 ตลาดใหญ่คือญี่ปุ่น และญี่ปุ่นได้รับผลกระทบรุนแรง ขณะช่วงไตรมาสแรกปีนี้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น แต่ก็มีปัจจัยลบมาทำให้สะดุด

นายคึกฤทธิ์  อารีปกรณ์  ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการส่งออกสินค้าไก่ของไทยช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ว่า มีมูลค่า 15,438 ล้านบาท ขยายตัวลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากหลายปัจจัย เช่น จากโรคโควิด-19 ทำให้หลายตลาดยังไม่ฟื้น เฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหภาพยุโรป อาทิ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ที่สถานการณ์โควิดดูเหมือนจะลดลงแล้ว แต่กลับขึ้นมาใหม่ ส่งผลการนำเข้าสินค้าไก่ลดลง ส่วนตลาดญี่ปุ่นยังพอไปได้จากสามารถควบคุมโรคได้ดีกว่า 

นอกจากนี้ผู้ส่งออกยังประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าขาดแคลน ส่งผลต่อเนื่องถึงค่าระวางเรือ หรือค่า Freight  ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากก่อนหน้านี้เคยขึ้นไปถึงระดับเกือบ 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ หากจองล่วงหน้า 2  เดือนจะลดลงมาเหลือ 5,000-6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ และหากจองสัปดาห์ต่อสัปดาห์มีโอกาสไม่ได้ตู้สูง แต่ก็ต้องเสี่ยง

“ราคาค่าระวางเรือไปยุโรปเวลานี้มีหลายราคา ตั้งแต่ 5,000-8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ มีคนแจ้งว่าถ้าจองล่วงหน้านาน 2 เดือนจะได้ราคา 5,000-6,000 ดอลลาร์ต่อตู้ขนาด 40 ฟุตที่เป็นตู้เย็นเสียบปลั๊กไฟ นอกจากนี้มีปัญหาแรงงานขาดแคลน  จากโรงงานส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าว ช่วงปีใหม่กลับประเทศก็ไม่อยากกลับมา แต่ถ้าอยากกลับมาก็ติดปัญหาเรื่องโควิดที่รัฐบาลยังไม่เปิดให้นำเข้า ส่งผลให้หลายโรงงานต้องลดกำลังการผลิต บางโรงชะลอรับออร์เดอร์ จากมียอดเข้ามาก็ทำได้ไม่เต็มที่เนื่องจากขาดแรงงาน ส่วนแรงงานไทยรับเข้ามา 1-2 อาทิตย์ก็ไม่ทำแล้ว เพราะส่วนใหญ่ไม่ชอบทำงานในโรงงาน แต่ชอบทำงานในภาคบริการมากกว่า”

ตลาดส่งออกสินค้าไทย

นายคึกฤทธิ์คาดเวลานี้โรงงานไก่จะขาดแคลนแรงงานเป็นหลักหมื่นคน ยังผลกระทบถึงผู้ประกอบการบางรายที่ตั้งโรงงานใหม่ขึ้นมาแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการได้  รวมถึงกระทบกับการรับคำสั่งซื้อเพื่อส่งมอบในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ที่แม้เวลานี้มีคำสั่งซื้อเริ่มกลับมาแล้ว เช่น จากญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และจีน จากแต่ละโรงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

ขณะที่ในปีนี้ทางสมาคมฯได้ตั้งเป้าอัตราการขยายตัวการส่งออกสินค้าไก่ไว้ที่ 1% โดยคาดจะส่งออกได้ที่ 9.5 แสนตัน จากปีที่แล้วส่งออก 9.38 แสนตัน ซึ่งคาดหวังช่วงครึ่งหลังปีนี้สถานการณ์จะดีขึ้นจากในแต่ละประเทศได้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น แต่หากขาดแคลนแรงงานเป้าดังกล่าวคงไปไม่ถึง

“เราเตรียมเสนอให้ภาครัฐมีการผ่อนปรนเรื่องการนำเข้าแรงงานเอ็มโอยูเข้ามาได้ ซึ่งต้องมากักตัวตามเวลาที่กำหนด มีการตรวจหาเชื้อโควิด หากไม่มีก็สามารถมาทำงานได้ ขณะที่เวลานี้การหาแรงงานจากจังหวัดหนึ่งเพื่อมาใช้อีกจังหวัดหนึ่งก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐห้ามเคลื่อนย้าย ซึ่งควรผ่อนปรนหากไม่ใช่พื้นที่สีแดง”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564