รับเหมายอมรับเหนื่อย  กับรถไฟ‘ไทย-จีน’

05 เม.ย. 2564 | 07:05 น.

รับเหมารายกลางโอดรถไฟไทย-จีน เช็นสัญญาช้า 2 ปี ทำมูลค่าโครงการขยับ ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง เหล็กพุ่ง แรงงานต่างด้าวขาดจากพิษโควิด รับเหมา สัญญา 4-2 ดอนเมือง-นวนคร ส่งสัญญาณโบกมือลายืนราคาไม่ไหว รฟท.จ่อประมูลใหม่ ด้าน คมนาคม สั่งลงนามเพิ่ม 4 สัญญา ในปีนี้ พร้อมลุยออกแบบรถไฟไทย-จีน เฟส 2 คาดแล้วเสร็จ ก.ค.นี้ 

กว่า 2 ปีหลังประมูลรถไฟไทย-จีนเฟสแรก หรือ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท จำนวน 14 สัญญา มีความล่าช้า ทั้งการปรับแบบเพื่อความเหมาะสม ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ เพิ่มเติม

พระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) เวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังไม่ผ่านความ เห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ผู้รับเหมาที่ลงนามในสัญญาไปแล้ว บางรายอาจยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ และเนื่องจากรถไฟไทย-จีนเป็นโครงการประวัติศาสตร์ เอกชนจึงให้ความสำคัญสร้างประวัติศาสตร์ให้กับบริษัทของตนเองเช่นเดียวกัน จึงเกิดปรากฏการณ์ตัดราคาต่ำกว่าราคากลางค่อนข้างมาก ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อการเช็นสัญญาล่าช้า

ส่งผลให้ต้นทุนก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง  อาทิ เหล็กขยับขึ้น แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านขาดแคลนจากสถานการณ์โควิด-19 บางรายถึงขั้นถอดใจ ขอยกเลิกงานประมูลก่อนลงนามในสัญญา เห็นได้ชัดอย่างสัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 8,626.8ล้านบาท จากราคากลางกว่า 10,000ล้านบาท 

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล ประธานกรรมการ บริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ในฐานะนายกสมาคมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  ที่ยอมรับว่า ได้ตัดราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางถึง 20%  ในสัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ 23 กิโลเมตร นามกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK (ไชน่าสเตท,เนาวรัตน์,เอ.เอส.แอสโซซิเอท) วงเงิน 11,525.36 ล้านบาท ล่าสุดเซ็นสัญญา เรียบร้อยแล้ว หลังรอมากว่า 2 ปี อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างเกียรติประวัติให้กับบริษัท แม้จะเหนื่อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น บริษัทและพันธมิตรมั่นใจว่าน่าจะสร้างผลกำไรที่ดีได้ในระยะยาว พร้อมทั้งเดินหน้าประมูลงานโครงการรถไฟไทย-จีนระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) เชื่อมโยง รถไฟจีน-ลาวที่จะเปิดเดินรถปลายปีนี้   

ภายหลังจากเช็นสัญญา 3 สัญญาเพิ่มเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  จะให้เอกชนเข้าพื้นที่เพื่อลงมือก่อสร้าง ซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้างแต่ละสัญญา 1,080 วัน (2 ปี 9 เดือน) รวมวงเงินก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา 27,527,350,469.37 บาท คาดเปิดให้บริการภายในปี 2569 เพื่อเชื่อมโยง รถไฟ จีน-ลาว ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมให้บริการเดิน รถปลายปีนี้ ขณะอนาคตมีแผนก่อสร้างเส้นทางตอนใต้ของไทย เชื่อมมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระบบขนส่งทางราง ทางบกและทางน้ำ 

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา (โคราช)-หนองคาย ระยะทางราว 356 กิโลเมตร ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด คาดแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2564 คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จหลังจากช่วงแรกที่เปิดให้บริการราว 3-4 ปี

รถไฟไทย-จีน

ขณะเดียวกันอีก 4 สัญญาคาดว่าจะเร่งลงนามสัญญาแล้วเสร็จภายในปีนี้ ประกอบด้วย สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร วงเงิน 18,000 ล้านบาท สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร วงเงิน 8,626.8 ล้านบาท สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร วงเงิน 9,913 ล้านบาท และสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง ปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร วงเงิน 9,930 ล้านบาท

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ทั้ง 3 สัญญาที่ลงนามแล้วนั้น เบื้องต้นจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ภายใน 2 เดือน ขณะเดียวกันสัญญา 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เนื่องจากต้องรอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน) นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อออกประกาศ ก่อนถึงจะดำเนินการเข้าพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ ส่วนสัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ไม่สามารถลงนามสัญญาได้ทันในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วย บจ.ซิโนไฮโดร,บจ.สหการวิศวกรและบจ.ทิพากร ที่ชนะการประมูล วงเงิน 8,626.8 ล้านบาทที่ไม่ประสงค์ยืนราคา เพราะเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 

“ทั้งนี้สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายยกเลิกและเปิดประมูลใหม่หรือเชิญเอกชนรายที่ 2 คือ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เสนอราคาสูงกว่ารายแรก 2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันเรามองว่ารฟท.มีแนวโน้มที่จะเปิดประมูลใหม่ เนื่องจากราคาที่เอกชนเสนอต่างกันเยอะ ถ้าเราเรียกเอกชนรายที่ 2 ขึ้นมาเสนอราคา เกรงว่าอาจจะเกิดข้อพิพาทได้หรือเราอาจจะทำหนังสือขอความคิดเห็นต่อกรมบัญชีกลาง หากได้ความชัดเจนแล้วจะเริ่มประมูลใหม่ ทั้งนี้จะต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาเห็นชอบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้”

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,666 วันที่ 1 - 3 เมษายน พ.ศ. 2564