ไทย-ญี่ปุ่น จับมือวิจัยเชิงรุกโรค ป้องตลาดปศุสัตว์ 2 แสนล้าน

12 มี.ค. 2564 | 10:10 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

"สินค้าปศุสัตว์" ของประเทศไทย ได้รับการยอมรับในระดับสากลด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีปริมาณการนำเข้าจากประเทศไทยในแต่ละปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 200,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในทุกปี

 

“กรมปศุสัตว์” เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์ ที่จำหน่ายทั้งภายในและส่งออกต่างประเทศ ได้ติดตามสถานการณ์และดำเนินมาตรการรองรับการระบาดโรคโควิดในอุตสาหกรรมอาหารดังกล่าวตั้งแต่แรก ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

วันที่ 12 มีนาคม 2564  นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (Joint Coordinating Committee) ของโครงการวิจัย “The Project for the Acceleration of Livestock Revolution in Thailand aiming to be the Kitchen of the World through the Development of Novel Technologies for Stable Livestock Production and Food Safety” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Science and Technology Research Partnership for Sustainable Development หรือ SATREPS)

 

โครงการวิจัยดังกล่าว ได้ลงนามข้อตกลงระหว่างฝ่ายไทยและญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2562 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้เริ่มโครงการได้ล่าช้ากว่ากำหนด 6 เดือน ผู้ร่วมโครงการวิจัยประกอบด้วย ผู้ร่วมวิจัยฝ่ายไทยจาก กรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ 3 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ร่วมวิจัยฝ่ายญี่ปุ่นจาก Miyazaki University, Hokkaido University, Tokyo University, Kagoshima University, Kaijo Corporation และ Nipponham Foods Ltd.

 

ผู้เข้าร่วมประชุม

 

สำหรับโครงการนี้ประกอบด้วย 4 โครงการวิจัยย่อย ดังนี้  1. โครงการย่อยที่ 1 ระบบการวินิจฉัยแยกโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำ รวมทั้งโรคติดเชื้อสำคัญที่ส่งผลต่อผลผลิตในปศุสัตว์ (เช่น กลุ่มอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ; Bovine Respiratory disease Complex (BRDC)) โดยใช้ชุดตรวจวินิจฉัยโรคแบบเร็ว รวมทั้งการพัฒนา Next Generation Sequencing เพื่อหาโรคอุบัติใหม่

 

2. โครงการย่อยที่ 2 ระบบการป้องกันทางระบาดวิทยาเบื้องต้น เช่น ระบบการพยากรณ์โรคหรือการประเมินความเสี่ยงในฟาร์มโดยใช้แบบจำลองทางระบาดวิทยา

 

3. โครงการย่อยที่ 3 สร้างเทคโนโลยีใหม่ เช่น อุปกรณ์สำหรับกำจัดการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค (high pressure) วิธีการสร้างสภาพแวดล้อมในฟาร์มไก่เนื้อ และโรงฆ่าสัตว์ท้องถิ่นให้ปลอดเชื้อโรคโดยใช้สารดูดซับเชื้อก่อโรค เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค

 

4. โครงการย่อยที่ 4 สร้างแนวทางปฏิบัติสำหรับการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นส่วนช่วยในการสนับสนุนการป้องกันทางระบาดวิทยา ผ่านทางความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ ในรูปแบบประชุม/สัมมนา

 

ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือ การส่งบุคลากรเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกจำนวน 3 ราย ได้แก่ ข้าราชการ 1 ราย นักศึกษา 2 รายจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทาง JICA จะจัดหาครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ให้กรมปศุสัตว์เพื่องานวิจัย เช่น Next generation sequencer, Biosafety cabinet, Real-time PCR เป็นต้น

 

โครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วเป็นระยะเวลา 4 เดือน จึงได้จัดการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (Joint Coordinating Committee) ครั้งแรก เพื่อรายงานความก้าวหน้าและหารือข้อคิดเห็นต่างๆ ของโครงการ รวมทั้งแผนดำเนินงานในอนาคตโดยหัวหน้าหรือผู้แทนโครงการวิจัยย่อยที่ 1-4