พลังงานฝ่าโควิด ลงทุนกระตุ้นศก. 1.27 แสนล้าน

11 ม.ค. 2564 | 00:09 น.

สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา และยังต่อเนื่องมาถึงปี 2564 ได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคม จนรัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ มาเยียวยา ช่วยเหลือภาคสาขาต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

กระทรวงพลังงาน ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่รับโจทย์จากรัฐบาล ออกมาตรการต่างๆ มาขับเคลื่อนเยียวยาช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ยากลำบาก จากภาวะการเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบ 

 

ปี63ควัก5 หมื่นล.ช่วยเหลือ

การดำเนินงานในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้มุ่งเน้นการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ เช่น มาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน เช่น ลดค่าไฟฟ้า การชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ฯลฯ รวมมูลค่า 49,836 ล้านบาท และยังเล็งเห็นความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการเพิ่มอัตราจ้างงาน สร้างงาน สร้างรายได้ ในธุรกิจพลังงาน โดยได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)  เปิดรับสมัครงานกว่า  20,000 อัตรา นอกจากนี้ ยังสร้างรายได้จัดเก็บภาษีและค่าภาคหลวง จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมเข้าภาครัฐ 1.29 แสน ล้านบาท นำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศอีกทางหนึ่ง

อีกทั้ง มีมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรกร ได้กำหนดให้นํ้ามันดีเซล B10 เป็นนํ้ามันดีเซลเกรดมาตรฐานครั้งแรกของประเทศ ช่วยยกระดับชีวิตเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ขับเคลื่อนพลังงานชุมชน สร้างชุมชนต้นแบบลดใช้พลังงาน ซึ่งทั้งมาตรการช่วยเหลือและสร้างรายได้ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.79 แสนล้านบาท 

ขณะที่แผนขับเคลื่อนนโยบายพลังงานปี 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมจะขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกภายใต้หน่วยงานในสังกัด และภาคเอกชนเพื่อร่วมหาทางออกฝ่าวิกฤติโควิด-19  

ทั้งนี้ นโยบายที่สำคัญของกระทรวงพลังงานจะเน้นไปที่ การสร้างความเข้มแข็งทางพลังงาน เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจระดับฐานราก และเร่งส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งในเร็วๆนี้ จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาของภาครัฐและเป็นกรอบการลงทุนที่ชัดเจนของภาคเอกชน  คาดว่าภาพรวมของการขับเคลื่อนดังกล่าว จะสามารถสร้างเม็ดเงินลงทุนให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 127,932 ล้านบาท  

 

 

ลงทุนกระตุ้นศก.1.27แสนล.

สำหรับเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานปี 2564 ที่สำคัญๆ ส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องของการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน ของรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ทั้งใน กลุ่ม ปตท.และกฟผ. ตลอดจนภาคเอกชนด้านพลังงานผ่านนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ ที่จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในช่วงต้นปี 2564

อีกทั้ง การผลักดันความชัดเจนเรื่องลดสำรองไฟฟ้า เร่งเดินหน้าส่งเสริมแข่งขันเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า การกำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนยานยรถไฟฟ้าหรือ EV เพื่อกระตุ้นการลงทุน และเตรียมพร้อมการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 พร้อมทั้ง การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา (OCA) และกำหนดการส่งเสริมการลงทุนปิโตรเลียมระยะที่ 4 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC

ในขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงพลังงานจะเร่งผลักดันการกระตุ้นยอดใช้น้ำมันดีเซล B10 ให้มีปริมาณที่มากขึ้น และจะกำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นนํ้ามันเบนซินหลัก เร่งผลักดันให้โรงกลั่นนํ้ามันผลิต G-base ให้ได้ตามมาตรฐานภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และขับเคลื่อนโครงการชุมชนทั่วประเทศร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

การขับเคลื่อนพลังงาน ปี 64

 

 

เร่งคลอดโรงไฟฟ้าชุมชน

รวมถึงการขับเคลื่อนลงทุนพลังงานสะอาด จะเร่งรัดการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ การส่งเสริมกระตุ้นการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ ส่งเสริมการใช้โซลาร์รูฟท็อปให้เติบโต 100 เมกะวัตต์ แลส่งเสริมภาคธุรกิจในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ESCO (Energy Service Companies) เพื่อลดการใช้พลังงานในส่วนของภาครัฐ รวมทั้งการจัดสรรงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประมาณ 2,400 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการลงทุนกระจายลงไปใน 76 จังหวัด เฉลี่ยจังหวัดละ 25 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการที่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการอนุรักษ์พลังงาน และอีก 500 ล้านบาทเพื่อ
ช่วยเหลือพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง (Off Grid )

นายสุพัฒนพงษ์ สะท้อนให้เห็นว่า จากโครงการต่างๆ ดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 ได้ราว 1.27 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยประเทศฝ่าฟันไปสู่การสร้างความเข้มแข็งทางกับเศรษฐกิจต่อไปได้ 

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรง จนรัฐต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ ทางกระทรวงพลังงาน ก็พร้อมที่จะขออำนาจในการพิจารณาอนุมัติมาตรการเยียวยา จากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ให้กับผู้รับผลกระทบได้ทันที 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมธุรกิจพลังงานเชื่อ "โควิด" คลายดันใช้เบนซิน-ดีเซลปี 64 สูงเท่าปี 62

“GUNKUL” กำไรพิเศษขายโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น 1.09 พันล้านบาท

“ปตท.” ยันพลังงานไม่ขาดแคลนช่วง "ปีใหม่" แม้มีการติดเชื้อโควิด-19

เริ่มลงทะเบียนแล้วของขวัญปีใหม่ “กฟผ.÷2”