แนะ “บีโอไอ”เลียนโมเดล 3 ชาติ ดันทัพไทยลงทุนนอก

06 ธ.ค. 2563 | 04:44 น.

บิ๊กสภาอุตสาหกรรมฯแนะบีโอไอเลียนโมเดล “ญี่ปุ่น-เกาหลี-ไต้หวัน” พลิกบทบาททำงานเชิงรุกดันทัพไทยลงทุนนอก ให้นับเป็น KPI วัดความสำเร็จ แทนดึง FDI ดึงลงทุนในประเทศอย่างเดียว

จากสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในแต่ละปี จากปัจจัยบวก-ลบทั้งภายในและภาคนอกที่เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งในปีนี้มีสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนหดตัวลงทั่วโลก การเดินทางเข้า-ออกเพื่อมาดูลู่ทางการลงทุนมีความไม่สะดวก ส่งผลให้ FDI ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอในปี 2563 ลดลงอย่างมาก

 

2 ปัจจัยทำ FDI หนี

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รู้สึกเห็นใจบีโอไอที่การขอรับการส่งเสริมลดลงมากจากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ความได้เปรียบเรื่องแรงงานที่มีมาก และค่าจ้างแรงงานราคาถูกที่เป็นแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจากต่างประเทศเข้ามาขอรับการส่งเสริมในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เวลานี้ความได้เปรียบตรงนี้ได้หายไป ปัจจุบันแรงงานไทยขาดแคลน และหายาก ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว จากไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราเด็กเกิดใหม่และแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานลดลง ค่าจ้างแรงงานไทยต่อวันเทียบกับเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV แพงกว่าเขา 1-3 เท่า ดังนั้นอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติที่ใช้แรงงานเข้มข้นได้พิจารณาย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

ปัจจัยต่อมาคือเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากความตกลงการค้าเสรี (FTA)ที่เวลานี้ไทยมี FTA กับประเทศคู่ค้าไม่มากเมื่อเทียบกับเวียดนาม (ไทยมี FTA กับ 18 ประเทศ เวียดนามมีกับ 53 ประเทศ) ทำให้การลงทุนในไทยขาดแต้มต่อในการใช้เป็นฐานผลิตและส่งออก FDI หันไปลงทุนในเวียดนามที่มีความได้เปรียบเรื่องแรงงานและ FTAที่ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และมีแต้มต่อในการแข่งขันมากกว่า

 

 “เฉพาะแค่ 2 เรื่องนี้ก็ทำให้เม็ดเงินลงทุนที่จะมาลงทุนในไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหายไปอย่างชัดเจน และปีนี้เป็นปีที่มีสถานการณ์โควิดด้วย ทำให้เม็ดเงินหลั่งไหลไปเวียดนาม รวมถึงเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศมากขึ้น”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บีโอไอชี้จุดแข็งไทยไม่เป็นรอง มั่นใจ FDI ปี 64 ฟื้น

ม็อบยื้อกระทบ FDI ไหลเข้า ญี่ปุ่นขอคำตอบไทยร่วม CPTPP

ฮานอย-เวียดนามยังหอมไกล FDI ไหลเข้า 4 เดือนกว่า 1.5 แสนล้าน

แนะ “บีโอไอ”เลียนโมเดล 3 ชาติ ดันทัพไทยลงทุนนอก

อุตฯไฮเทค-BCG ทางออกขาดแรงงาน

ดังนั้นการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอนับจากนี้คือ 1.การคัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เป็นไฮเทคโนโลยี ลดการใช้แรงงานคนมากขึ้น และในอนาคตอุตสาหกรรมจะเข้าสู่ยุค 4.0 มี 5G โรงงานก็ไม่ได้ใช้คนมาก แต่จะใช้คนที่มีทักษะ (Skill) สูงๆ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องเตรียมคนทั้ง Up-skill  Re-Skill เพื่อให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ซึ่งบุคลากรถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศที่จะพิจารณามาลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคในไทยได้หรือไม่

 

2.โฟกัสอุตสาหกรรมที่อยากให้การส่งเสริมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นเทรนด์ของโลก คือ BCG (B Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ, C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน, G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ไม่มีมลพิษ) เพื่อทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง

แนะ “บีโอไอ”เลียนโมเดล 3 ชาติ ดันทัพไทยลงทุนนอก

 

ดันลงทุนนอกให้นับเป็น KPI

และข้อสุดท้าย บีโอไอต้องเพิ่มบทบาทและดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น เช่นแทนที่จะชักชวน FDI เข้ามาอย่างเดียว ก็ต้องมีหน่วยงานเหมือน JETRO (องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น), KOTRA (สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งเกาหลี) หรือ TAITRA (สภาพัฒนาการค้าไต้หวัน) ที่เขาทำหน้าที่เป็นทัพหน้าไปเซอร์เวย์และหาข้อมูลว่าประเทศไหน พื้นที่ตรงไหนมีทรัพยากรแรงงาน/บุคลากร ทรัพยากรธรรมชาติ/วัตถุดิบ อุตสาหกรรมใดที่เหมาะไปลงทุนกฎระเบียบ เงื่อนไข กฎหมายการลงทุน วัฒนธรรม ธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นอย่างไร รวมถึง เรื่องระบบโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า สิทธิประโยชน์จาก FTA และสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ ประสานเรื่องแหล่งเงินทุน และอื่น ๆ

 

“ภาครัฐโดยบีโอไอต้องทำตัวเหมือน JETRO, KOTRA และ TAITRA ในการนำผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะส่วนใหญ่ยังไม่สามารถไปได้ด้วยตัวเอง ไม่เหมือนบริษัทใหญ่ๆ โดยผลงานหรือตัวเลขที่บีโอไอสามารถผลักดันการลงทุนในต่างประเทศได้ เช่น ทำได้ที่ 2 แสนล้านบาท ก็ให้นำตัวเลขนี้มารวมเป็น KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ) หรือรวมเป็นผลงานของบีโอไอในแต่ละปีได้ เช่น ในประเทศทำได้อีก 3 แสนล้านบาท รวมในและต่างประเทศเป็น 5 แสนล้าน อย่างนี้ก็จะทำให้บีโอไอมีกำลังใจที่จะทำ จากที่เวลานี้โจทย์การลงทุนของประเทศเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว”

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับ 3633 วันที่ 6-9 ธันวาคม พ.ศ. 2563