ผุด “แท้งค์เก็บน้ำยางข้น” สกัดล้น ทุบราคาดิ่ง

29 พ.ย. 2563 | 08:15 น.

​​​​​​​“อุทัย” ชง กยท. ผุด “แท้งค์เก็บน้ำยางข้น”  3 แห่ง  รวม 1.5 แสนตัน หวังสกัดน้ำยางสดล้นทะลัก ทุบราคาดิ่งเหว

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผมได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ โดยมีคุณธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายฯ และคุณประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เข้าร่วมประชุม (27 พ.ย.63) ด้วย จึงได้เสนอโครงการ “Installation tank” หรือ โครงการ แท้งค์เก็บน้ำยางข้นเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา (Latex Tank Installation project (LTI) to stabilize rubber price)  เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างการผลิตยางพาราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โครงสร้างสัดส่วนการผลิตยางของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก จากปัจจัย ด้านแรงงาน เทคโนโลยีและอื่นๆ ยางแผ่นรมควัน (RSS) : ยางแท่ง STR : น้ำยางข้น (Con.Latex) : ยางชนิดอื่นๆ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว 70-75 : 15-20  : 10-15 : 5  ปัจจุบัน 10-15 : 60-65 : 20-25 : 5 ตามลำดับ

 

“การเปลี่ยนของโครงสร้างการผลิตยางพาราของไทยมาเน้นการผลิตยางแท่งและนำ้ยางข้นเพิ่มขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลต่อแนวทางการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การกรีด เก็บและจำหน่ายวัตถุดิบยางพาราของเกษตรชาวสวนมาจำหน่ายเป็นน้ำยางสดเพิ่มขึ้น จึงทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำยางข้นมากที่สุดในโลกในสัดส่วนที่สูงสุดมากกว่า 80%และส่งออกสูงที่สุด ปี2562 ผลิตได้ประมาณ 1 ล้านตันเศษ(เนื้อยางแห้ง) การใช้น้ำยางข้นภายในประเทศประมาณ ร้อยละ 25 ปี 2562 ใช้ ประมาณ 357,000 ตันเศษ ที่เหลือส่งขายต่างประเทศหรือประมาณ 6 แสนตัน”

 

นายอุทัย กล่าวว่า ไทยมีความได้แปรียบในเรื่องวัตถุดิบ "น้ำยางข้น" ไทยในเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1. ปริมาณการผลิตที่มากที่สุดเกินกว่าร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งโลก 2. คุณภาพน้ำยางข้นที่ดีที่สุด และส่งออกน้ำยางข้นมากที่สุดในโลก ซึ่งถ้าหากมีการควบคุมให้จำนวนและราคาเป็นไปตามที่ต้องการได้ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีและถูกต้อง จะสามารถรักษาเสถียรภาพราคาน้ำยางได้ ก็คือ  การลงทุนสร้างแท้งค์เก็บน้ำยางข้นพร้อมอุปกรณ์ควบคุมและห้องปฏิบัติการควบคุม 3 แห่ง รวม 1.5 แสนตัน โดยแบ่งเป็นความจุละ 5 หมื่นตัน เพราะคิดคำนวณจาก 1 ปี มีการส่งออกน้ำยางข้น 1.8 ล้าน ตันถ้าเก็บแหล่งละ5 หมื่นตันก็เกือบ10% ได้แก่ 1.ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทราใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง 2. สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดภูเก็ต และ 3.ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ใกล้ด่านสะเดา

 

โดยทั้ง 3 แห่ง จะต้องมีการวางแผนเพื่อจัดซื้อน้ำยางข้นจากผู้ประกอบการในช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนมกราคม ในช่วงน้ำยางออกมากราคาถูกและให้นำไปขายในช่วงเดือนเมษาน้ำยางขาดตลาดราคาแพง ซึ่งในการทำแท็งก์เก็บน้ำยางข้นจะต้องควบคุมจำนวนกรดไขมันระเหยได้(Volatile Fatty Acid Number, VFA No.)  ต้องดูแลให้ชิดไม่ควรเก็บเกิน 6เดือน เพราะจะทำให้น้ำยางข้นจะมีคุณภาพลดลง

ผุด “แท้งค์เก็บน้ำยางข้น” สกัดล้น ทุบราคาดิ่ง

 

เพื่อให้การควบด้านราคายางไม่ให้เกิดอาการขึ้นลงมากเกินไปรัฐบาลควรมีเก็บสต๊อกนำ้ยางข้นในส่วนที่เกินในแต่ละช่วงเวลา(Buffer stock controls) ในจำนวนที่เหมาะสมประมาณ 10-15% ไว้ที่ ท่าเรือแหลมฉบัง ภาคใต้ตอนกลาง(กยท.นครศรีธรรมราช)  ท่าเรือคลองเตย และด่านส่งออกทางบกไปมาเลเซีย ซึ่งในวันนั้น ท่านประธานบอร์ด ได้กล่าวว่าใจตรงกัน อยากให้เกิด แล้วก็ให้ผมทำโครงการเสนอเข้าไป ตรงกับใจที่ท่านเองก็อยากให้มี เพื่อทำให้เกิดคล้ายกับ ทาง กยท.กำลังทำอยู่ ก็คือ “โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง” ที่กำลังนำร่องที่ภาคเหนือ เชื่อว่ามีถ้ามีโครงการต่างๆ นี้เกิดขึ้นในแต่ละชนิดยาง จะทำให้ในอนาคต ราคายางพารามีเสถียรภาพ มากขึ้น