ดัชนีหอการค้ากังวล “ม็อบ” ห่วงยืดเยื้อรุนแรงกระทบเชื่อมั่น

14 ต.ค. 2563 | 07:34 น.

ดัชนีหอการค้าเดือนกันยาฯปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ยังกังวลโควิด-การเมือง กลุ่มตัวอย่างชี้ศก.จังหวัด 6 เดือนข้างหน้าคาดแย่ลง 41% ชี้การชุมนุมหากยืดเยื้อรุนแรง กระทบธุรกิจ-เชื่อมั่น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยถึง ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าประจำเดือนกันยายน 2563 ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 365 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 กันยายน2563  พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 32.5 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมือเทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 ที่อยู่ในระดับ 32.3 

 

ทั้งนี้มีปัจจัยลบ คือความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19  ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนและการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงจากเดิม รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมืองของเยาวชนและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และการที่รัฐบาลขยายการบังคับใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นต้น

 

ส่วนปัจจัยบวกคือการคณะกรรมการนโยบายและการเงิน(กนง.) ประมาณการณ์เศรษฐกิจของไทยใหม่คาดจะติดลบ 7.8% จากเดิมคาดจะติดลบ 8.1% รวมถึงรัฐบาลได้เร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

 

นอกจากนี้จากการสำรวจสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัด กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าเศรษฐกิจของจังหวัดในปัจจุบันโดยรวมแย่ลง 65.7%  ไม่เปลี่ยนแปลง 20.8%  ดีขึ้น  13.5% คาดการณ์อีก 6 เดือนข้างหน้าแย่ลง 41.4% ไม่เปลี่ยนแปลง 40.1% ดีขึ้น 18.5% การบริโภคภายในจังหวัดในปัจจุบัน แย่ลง 35.2% ไม่เปลี่ยนแปลง 35.3% ดีขึ้น 11.5% อีก 6 เดือนข้างหน้า 53.2% เห็นว่าแย่ลง 35.3% ไม่เปลี่ยนแปลง 11.5%เห็นว่าดีขึ้น

 

การลงทุนของภาคเอกชนในจังหวัดในปัจจุบัน 66.0% เห็นว่าแย่ลง 22.6% ไม่เปลี่ยนแปลง  11.4% เห็นว่าดีขึ้น ส่วนในอีก 6 เดือนข้างหน้า 48.9% เห็นว่าแย่ลง 29.8% ไม่เปลี่ยนแปลง 21.9% แย่ลง

 

การท่องเที่ยวภายในจังหวัดในปัจจุบัน 84.1% เห็นว่าแย่ลง 9.7% เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง และ6.2% เห็นว่าดีขึ้น ส่วนในอีก 6 เดือนข้างหน้า 46.0% เห็นว่าแย่ลง 30.8% ไม่เปลี่ยนแปลง และ 23.2% เห็นว่าดีขึ้น  ขณะที่การจ้างงานในปัจจุบัน 70.1% เห็นว่าแย่ลง  21.0% เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง  8.9% เห็นว่าดีขึ้น  ส่วนอีก 6 เดือนข้างหน้า  25.9% เห็นว่าแย่ลง 59.2% เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง และ 14.9% ดีขึ้นส่วนภาคเกษตรกรรมของจังหวัดในปัจจุบัน 53.7% เห็นว่าแย่ลง  ไม่เปลี่ยนแปลง 37.4% เห็นว่าดีขึ้น 8.4% ส่วนอีก 6 เดือนข้างหน้า 48.1% เห็นว่าแย่ลง 32.3% เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง ดีขึ้น 19.6%

 

สำหรับแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหา ทางหอการค้าไทยเห็นว่าภาครัฐควรควบคุมราคาสินค้าให้กับประชาชน เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การจับจ่ายไม่คึกคัก แนวทางการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวควรทำอย่างรัดกุมไม่ให้มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นในประเทศ อีกรอบ  ควรดูแลเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองให้มีเสถียรภาพเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และควรเร่งใช้งบประมาณและเร่งการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งหาแนวทางลดภาระหนี้นอกระบบของครัวเรือน พร้อมทั้งกระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ

ส่วนชุมนุมในแต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้นขณะนี้ หอการค้าไทยมองว่า ถ้าสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อและชุมนุมแบบค้างคืนไม่นาน เป็นการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ และไม่เกิดการปะทะรุนแรงหรือบานปลาย คาดว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมความเชื่อมั่นของภาคประชาชนและภาคธุรกิจแต่อย่างใด แต่คงจะต้องติดตามหากการชุมนุมยืดเยื้อไม่จบ เกิดการปะทะรุนแรงและเกิดการชุมนุมในทุกพื้นที่ไปทั่วและยาวนานจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่าง ๆ แน่นอน

 

 ดัชนีหอการค้ากังวล “ม็อบ” ห่วงยืดเยื้อรุนแรงกระทบเชื่อมั่น

 

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขณะนี้ทางภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นช็อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไตรมาสที่  4 ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท จะทำให้จีดีพีในไตรมาส 4 บวกขึ้นมาได้ 1-3 % ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ที่คาดว่าจะติดลบ  7 ถึงติดลบ  8 % เหลือเพียงติดลบ4 ถึงติดลบ 5 %  โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง แต่หากสถานการณ์การเมืองมีความรุนแรง มีการชุมนุมปักหลักยืดเยื้อยาวนาน กระทบเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเม็ดเงินจะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยลงเหลือเหลือ 1-1.5 แสนล้านบาทส่งผลทำให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ติดลบ 6-7 % 

 

สำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออบจ.ที่จะมีขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินในการหาเสียงสู่ระบบมีมากถึง 3 หมื่นล้านบาทเนื่องจากมีการแข่งขันสูงพรรคการเมืองต่างจะส่งตัวแทนลงเลือกตั้ง เพราะอบจ.เป็นฐานเสียงสำคัญ ซึ่งก็จะช่วยกระตุกเศรษฐกิจในปีนี้ได้อีก จากนั้นในช่วงต้นปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรืออบต.อีก 3 หมื่นล้านบาท น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติด "ม็อบ 14 ตุลา" ชุมนุม คณะราษฎร 2563 ได้ที่นี่