รฟม.ลั่น ชนะคดี!  ปมแก้ ทีโออาร์ รถไฟฟ้า “สายสีส้ม”

07 ต.ค. 2563 | 10:35 น.

    รฟม.ลุยงัดหลักฐานแน่นโชว์ศาลปกครองฯ หวังชนะคดีปมแก้ทีโออาร์ถไฟฟ้าสายสีส้ม มั่นใจไม่เสียค่าโง่ในอนาคต จ่อยึดเกณฑ์นี้ประมูลเมกะโปรเจ็กต์ทุกโครงการ

 

 

   

 

 

    นัดแรก เริ่มต้นขึ้น  ส่งผลให้ มีคนจับตา ว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะ  เมื่อ วันที่ 14 ตุลาคม  ศาล ปกครองกลางนัดไต่สวนฉุกเฉิน  คดี แก้ไข หลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี )  มูลค่า 1.4แสนล้านบาท  กรณี บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน)  หรือ บีทีเอสซี เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง โดยมองว่า อาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 อาจใช้ดุลยพินิจ เอื้อต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง    อย่างไม่เป็นธรรมนั้น 

 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าการปรับแก้หลักเกณฑ์เงื่อนไขเอกสารการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท เป็นสิทธิ์ที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถดำเนินการได้ และเป็นไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ขณะเดียวกันจากการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ดำเนินการก่อนเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และยังไม่ส่งผลเสียหายต่อเอกชนรายใด ไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ
    นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ได้ยื่นร้องการปรับหลักเกณฑ์โครงการฯ ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563  โดยรายละเอียดคำขอแนบท้ายระบุว่า 1.ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปรับปรุงวิธีการประเมินและการขยายระยะเวลายื่อข้อเสนอตามที่ รฟม.ดำเนินการ และ 2.ขอให้ศาลเพิกถอนเอกสารประกาศเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีคำขอท้ายคำร้องด้วยว่า ให้ศาลระงับการคัดเลือกเอกชนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งพิจารณาตัดสินคดีนี้  ทั้งนี้ผู้ฟ้องร้องไม่ได้มีการเรียกร้องเงินชดเชยแต่อย่างใด ซึ่งจะไม่มีการเสียค่าโง่ในอนาคต เนื่องจากเป็นการฟ้องร้องเพื่อคุ้มครองและเพิกถอนมติการปรับปรุงหลักเกณฑ์เท่านั้น
  

 

 

 “ขณะนี้ศาลปกครองนัดไต่สวนพิจารณาวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยรฟม.เตรียมข้อมูลคัดค้านต่อศาลปกครองกลาง ตามกำหนดนัดไต่สวน ซึ่งจะชี้แจงในทุกประเด็นตามคำฟ้อง. รวมถึงการกำหนดข้อสงวนสิทธิ์ในเอกชนยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) ทั้งนี้รฟม.มีข้อมูลพร้อมชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามอำนาจของคณะกรรมการตาม ม.36 และดำเนินการอย่างรอบคอบ อีกทั้งภายในคณะกรรมการ ม.36 ยังประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลาย เชื่อถือได้ เช่น ตัวแทนจากอัยการ ตัวแทนด้านกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญในระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น เรายืนยันว่าจะชนะคดีความในครั้งนี้ เพราะการปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ เป็นไปตามพระราชบัญญัติร่วมลงทุน (พ.ร.บ.) ปี 2562 ที่กำหนดไว้ รวมทั้งเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ในครั้งนี้ ไม่ได้ส่อทุจริต ขณะเดียวกันตามปกติแล้ว ศาลจะพิจารณาจากผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่ในกรณีนี้บีทีเอสยังไม่ได้เป็นผู้เสียหาย เพราะยังไม่ได้มีการยื่นประมูล ทั้งยี้คงต้องรอฟังคำตัดสินของศาล ว่าจะมีคำสั่งยกคำร้องหรือคุ้มครอง ซึ่ง รฟม.ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย รวมทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบันได้ขยายเวลาผู้ซื้อซองออกไป 45 วันนับตั้งแต่วันที่ออกเอกสารประกาศเชิญชวนร่วมลงทุน (RFP) ทำให้เอกชนมีระยะเวลาเตรียมจัดทำข้อเสนอก่อนยื่นประมูลไม่น้อยกว่า 70 วัน ซึ่งมีระยะเวลามากกว่าหลักเกณฑ์เดิมหลังกำหนดการยื่นซองประมูลมีระยะเวลาเพียง 60 วันเท่านั้น”

 

ขณะที่การนำคะแนนด้านเทคนิคมารวมในการพิจารณาคัดเลือกเป็นการดำเนินการตามข้อสงวนสิทธิ์ที่รฟม.ระบุไว้ใน RFP และยืนยันว่ากรณีของการปรับหลักเกณฑ์ จะไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะ RFP ไม่ได้กำหนดผู้รับเหมางานโยธาต้องซื้อซอง ดังนั้นสามารถรับเหมาช่วงได้ (ซับคอนแทรค) 
  

 

 

 นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ชะลอการประมูลโครงการฯ ทางรฟม.ก็มีสิทธิดำเนินการอุธรณ์คำร้องคุ้มครองได้เช่นกันจนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งอื่นมาทดแทน เชื่อว่าจะชนะคดีความดังกล่าว 

 

ทั้งนี้ยืนยันว่าโครงการฯ จะไม่ยืดเยื้อ เพราะผู้ฟ้องร้องไม่ได้เกิดความเสียหาย เพียงแต่ต้องจัดทำข้อเสนอตามหลักเกณฑ์ฯใหม่ที่กำหนด และฝ่ายรฟม.ในฐานะหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้เสียหาย ถึงแม้จะถูกเอกชนฟ้องร้องทำให้เสียชื่อเสียงแต่ไม่ได้เน้นด้านการค้าความ ซึ่งต้องดูผลการพิจารณาจากศาลปกครองเป็นหลักในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ก่อนที่จะดำเนินการกฎหมายทางแพ่งหรือไม่ 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,616 วันที่ 8 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2563