“สะพานไทย”เสียงแตกคุ้ม-ไม่คุ้ม

07 ต.ค. 2563 | 05:36 น.

ภาคเอกชน-นักวิชาการ สะท้อน สะพานไทย เส้นทางลัดตัดอ่าวไทย เชื่อม อีอีซี-แลนด์บริดจ์ มูลค่า นับล้านล้าน คุ้ม-ไม่คุ้มต้องศึกษาให้ชัด คาดต้องฝ่าด่าน ชาวบ้าน ค้านกระหึ่ม สวล.ทางทะเล                

 

 

 

 

เรียกเสียงฮือฮา อย่างมากสำหรับแผนลงทุนโครงการสะพานไทยเส้นทางลัดข้ามอ่าวไทย จาก จังหวัดชลบุรี ไปยังเพชรบุรี ระยะทาง 80-100กิโลเมตร มูลค่า 9.9 แสนล้านบาท เส้นทางสนับสนุนการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ลงสู่ภาคใต้ โครงการแลนด์บริดจ์ ที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ (ศบศ.) เสนอ ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิศษภาคตะวันออก (กพอ.)

 

ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน มีมติมอบกระทรวงคมนาคมและ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันศึกษาการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยเน้นรูปแบบการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน หรือพีพีพีพร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ท่ามกลาง การตั้งข้อสังเกตุว่าโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว มีความคุ้มค่าและจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่โดยเฉพาะสะพานไทย

 

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน (ASEAN Trucking Federation) เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจว่า หากเป็นการอนุมัติเพื่อศึกษาวิจัยก็สามารถทำไป เพราะเป็นโครงการลงทุนขนาดมหึมางบศึกษาวิจัยถ้าใช้ที่ 0.05 % ของมูลค่าโครงการ ซึ่งไม่ตํ่ากว่า 1 ล้านล้านบาท มองว่าเป็นค่าศึกษาวิจัยไม่ตํ่ากว่า 500 ล้านบาท โดยโครงการนี้ยังมีข้อสงสัยถึงความเป็นไปได้หลายประเด็น เฉพาะด้านการลงทุนสะพานลัดข้ามอ่าวไทย ที่บอกว่าจะต้องลงทุน 9 แสนล้านบาทในรูปแบบพีพีพีนั้น จะต้องใช้เวลากี่ปีจึงจะคุ้มทุน ปริมาณลูกค้าที่จะใช้มีมากพอหรือไม่ ไหนจะเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือผลกระทบอื่น เช่น การเดินเรือ ซึ่งคงต้องศึกษาวิจัยกันอีกนาน และเชื่อว่าหากจะทำจริงน่าจะเป็นรูปแบบอุโมงค์ใต้ทะเลมากกว่า

               

“สะพานไทย”เสียงแตกคุ้ม-ไม่คุ้ม

 

หากต้องการลดต้นทุนโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานผลิตอีอีซีไปพื้นที่ภาคใต้ มีแนวทางที่รัฐสามารถทำได้ทันที คือ เปิดใช้บริการเรือเฟอรีขนรถบรรทุกข้ามฟากจากชายทะเลตะวันออก ซึ่งแต่ละลำสามารถบรรทุกท่อนหางรถลากพร้อมตู้สินค้าทีละนับร้อยคัน ไปขึ้นที่ท่าเรือประจวบคีรีขันธ์ของเครือสหวิริยา ที่ส่งเหล็กไปตะวันออกกลางจำนวนมาก หรือท่าเรือสุราษฎร์ธานีที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดได้จริงทั้งต้นทุนโลจิสติกส์ ลดอุบัติเหตุทางถนน ลดมลภาวะ ลดดุลการชำระเงินประหยัดเม็ดเงินที่ต้องใช้ซื้อนํ้ามันจากต่างประเทศ รวมถึงลดภาระพนักงานขับรถบรรทุกใหญ่ที่เวลานี้ขาดแคลน 

 

นอกจากนี้ให้ระวังจะหลงทาง เรื่องที่คาดหวังจะรองรับสินค้าจีน หลังเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวลงมาเชื่อมไทยเสร็จ ไปลงท่าเรือระนองเพื่อส่งออกตะวันออกกลาง-ยุโรปด้วยนั้น เพราะเมื่อจีนส่งสินค้ามาไทยเพื่อกระจายสู่อาเซียนแล้ว ขากลับก็ต้องรวบรวมสินค้ากลับด้วย ซึ่งสามารถเชื่อมโครงข่ายรถไฟจีนที่วางรางต่อเข้าไปถึงตะวันออกกลาง ยุโรป จนถึงแอฟริกาได้แล้ว จึงต้องศึกษาให้ดีว่าจริงๆ แล้วจะมีปริมาณสินค้าไปใช้ท่าเรือระนองจริงๆ แค่ไหน

 

 

 

                นายสุเมธ องกิตติกุล  ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า โครงการสะพานไทย มีความคุ้มค่า หรือไม่ ต้องผ่านขั้นตอนศึกษาไปให้ได้ก่อนคาดว่าจะใช้เวลาเป็นปี สอดคล้องกับนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI มองว่า จำเป็นต้องมีสะพานไทย หรือไม่ หากต้องใช้งบลงทุนเกือบ 1ล้านล้านบาท และอาจสร้างผลกระทบ สิ่งแวดล้อมทางทะเล

                 สำหรับความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ลงนามในประกาศจัดซื้อจัดจ้างโครงการศึกษาความเป็นไปได้ ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ของประเทศไทยปีงบประมาณ2564 วงเงิน 12 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว