“สุพันธุ์”นั่งประธาน "ส.อ.ท." สมัย 3 ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิก 2 หมื่นราย

19 ส.ค. 2563 | 11:25 น.

มติเอกฉันท์เลือก “สุพันธุ์ มงคลสุธี” เป็นประธาน ส.อ.ท. อีกหนึ่งสมัย พร้อมตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 2 หมื่นราย

 

รายงานข่าวระบุว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ วาระปี 2563-2565 เป็นครั้งแรก โดยมีคณะกรรมการฯ จำนวนทั้งสิ้น 357 คน โดยวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้เป็นการเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. วาระปี 2563-2565 ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ติดต่อกันอีก 1 วาระ หลังจากที่ดำรงตำแหน่งในวาระปี 2561-2563 และวาระปี  2557-2559

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการ ส.อ.ท. ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอีก 1 วาระ โดยในวาระนี้จะมุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “Service Organization” เพื่อประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสมาชิกให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านวิกฤติโควิด-19 นี้ไปให้ได้

 

โดยแบ่งออกเป็น 6 ด้านหลัก ดังนี้ 1.F.T.I. Academy จัดตั้งสถาบันฝึกอบรมเพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งร่วมพัฒนาหลักสูตร Upskill & Reskill กับกลุ่มอุตสาหกรรม และร่วมพัฒนาหลักสูตร New Skill กับภาคการศึกษา

 

“สุพันธุ์”นั่งประธาน "ส.อ.ท." สมัย 3 ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิก 2 หมื่นราย

 

2.Marketing จัดตั้งศูนย์รับรองสินค้าไทย (Made in Thailand) เพื่อส่งเสริมสินค้าไทยสู่การจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐ และเสนอให้ ส.อ.ท. เป็นหน่วยงานรับรองผู้ผลิตสินค้า “Made in Thailand” พร้อมพัฒนางานด้านอี-คอมเมิร์ซ, เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจและซัพพลายเชน, การจับคู่ธุรกิจ, การจัดนิทรรศการ และสมาชิกสัมพันธ์ (One Stop Service) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

 

3.Innovation ร่วมกับภาครัฐจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เช่น ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

 

4.Efficiency พัฒนาประสิทธิภาพในด้านการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย Precision Farming โลจิสติกส์ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Big Data การบริการด้านกฎหมายและการขออนุญาต และการพัฒนาระบบประเมินศักยภาพ-ข้อมูลเชิงลึกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

 

5.Environment ให้ความสำคัญกับการผลิต การบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อน BCG Model, Eco Product, Eco Factory และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ดำเนินการตามหลัก SDGs

และ 6. Finance ให้คำปรึกษาด้านการเงินและภาษีกับผู้ประกอบการและสมาชิก การขอกู้เงินและการจัดทำบัญชี การนำเข้าและส่งออก เป็นต้น

 

นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่า ภายในวาระการดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. 2 ปีนี้ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนสมาชิกจากปัจจุบันที่มีกว่า 1.1 หมื่นราย ให้เพิ่มเป็น 2 หมื่นราย ซึ่งจะช่วยขยายขอบข่ายในการเข้าไปดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากขึ้น และยังเป็นเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการทั้งประเทศในการยื่นข้อเสนอต่าง ๆ และประสานความร่วมมือกับภาครัฐ

 

สำหรับแนวทางที่สำคัญ ก็คือการผันบทบาทของ ส.อ.ท. ไปสู่การเป็น Service Organization หรือองค์กรที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุก ๆด้าน และจะเป็นตัวประสานงานระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งความช่วยเหลือของภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมของ ส.อ.ท. ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs)เข้ามาใช้บริการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาติดต่อและประสานงานกับ ส.อ.ท. จะได้รับความพึงพอใจ และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. เพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก

 

ทั้งนี้  การที่ ส.อ.ท. มีสมาชิกเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งมีส่วนช่วยในการแบ่งเบาภาระของภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพราะองค์กรเอกชนจะเข้ามามีส่วนในการช่วยเหลือกันเองในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการจับคู่ธุรกิจ และยังมีโครงการบิ๊กบราเทอร์ ที่บริษัทรายใหญ่จะเข้าไปช่วยบริษัทรายเล็ก ในด้านต่าง ๆ ที่เชี่ยวชาญ ซึ่งในการดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ในสมัยแรก ส.อ.ท. มีสมาชิกเพียง 7,000 ราย แต่หลังจากหมดวาระก็เพิ่มสมาชิกได้กว่า 1 หมื่นราย ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

นอกจากนี้ ส.อ.ท. จะเร่งประสานงานกับภาครัฐในด้านของการร่วมกันหามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เพราะสถานการณ์โควิด-19 คงจะอยู่กับคนไทยและชาวโลกไปอีกนาน ดังนั้นประเทศไทยจะหวังพึ่งรายได้จากการส่งออก และการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลักเหมือนก่อนหน้านี้ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องรณรงค์ให้คนไทยซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น รวมไปถึงการจัดทำมาตรการจูงใจต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเอกชน เพิ่มการใช้สินค้าภายในประเทศ และออกไปจัดสัมมนาในต่างจังหวัดมากขึ้น

 

“ภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อลดภาระเงินทุนหมุนเวียน และคงอัตราการจ้างงาน เช่น การลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ และค่าใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาคอขวดที่ทำให้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ภาครัฐออกมาไปไม่ถึงมือผู้ประกอบการ ตลอดจนการยืดอายุมาตรการค้ำประกันเงินกู้ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประคองตัวจนผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19”