ราคาน้ำมัน จะยังคงถูกไปอีกนาน

17 ก.ค. 2563 | 11:30 น.

บทความคอลัมน์ Energy@Than ราคาน้ำมันจะยังคงถูกไปอีกนาน : โดยมนูญ ศิริวรรณ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

คำถามหนึ่งที่มีผู้ถามผมบ่อยมากคือราคาน้ำมันจะถูกอย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน และราคาในครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ผมให้ไปก็คือไม่มีใครคาดเดาราคาน้ำมันได้ถูกต้อง ถ้ามีใครทำได้ คน ๆ นั้นก็คงร่ำรวยไปแล้ว

แต่ถ้าเราต้องการคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันในอนาคต มีปัจจัยและข้อมูลที่เราต้องนำมาพิจารณาอยู่หลายประการ เช่น การผลิต การบริโภค เศรษฐกิจ การเงิน ภูมิรัฐศาสตร์ และน้ำมันคงคลังหรือสต๊อกน้ำมันนั่นเอง

เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งนำไปสู่มาตรการ Social Distancing และ Lockdowns ทั่วโลก ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงอย่างถล่มทลาย โดยองค์การพลังงานสากล หรือ IEA คาดว่าความต้องการน้ำมันของโลกปีนี้จะลดลงจากปีที่แล้วเกือบ 18 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 18%

IEA ยังประเมินว่าแม้สถานการณ์ด้านความต้องการจะปรับตัวดีขึ้นบ้างแล้ว จากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdowns ของประเทศต่าง ๆ แต่ความต้องการน้ำมันก็ยังไม่มีทางที่จะกลับไปเหมือนเดิม ก่อนหน้าจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้

โดย IEA คาดว่าจนถึงไตรมาส 4 ปีหน้า ความต้องการน้ำมันของโลกก็จะยังคงต่ำกว่าระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดอยู่ถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (105 ล้านบาร์เรลต่อวัน) มากกว่า 4% ถ้าไม่เกิดวิกฤติ Covid-19 

ราคาน้ำมัน  จะยังคงถูกไปอีกนาน

นอกจากความต้องการน้ำมันจะปรับตัวขึ้นอย่างเชื่องช้าแล้ว ถึงแม้กลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) จะมีมติลดการผลิตลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยขยายอายุข้อตกลงที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายนออกไปอีก 1 เดือนแล้วก็ตาม แต่สต๊อกน้ำมันที่มีอยู่อย่างล้นเหลือในช่วงวิกฤติสูงสุดระหว่างเดือน มีนาคม-พฤษภาคมก็ยังระบายออกไปได้ไม่มากนัก

คาดว่าในสิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ สต๊อกน้ำมันดิบโลกจะยังคงสูงกว่าระดับสต๊อกเมื่อสิ้นปีค.ศ. 2013 ซึ่งเป็นระดับที่สร้างความสมดุลให้กับตลาดอยู่ถึง 2,700 ล้านบาร์เรล ซึ่งสต๊อกน้ำมันจำนวนมหาศาลนี้เป็นปัจจัยสำคัญในขณะนี้ นอกเหนือจากเรื่อง Covid-19 ที่กดดันราคาน้ำมันไม่ให้ขึ้นสูงเฉลี่ยไปกว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐOต่อบาร์เรล

คำถามคือกลุ่ม OPEC+ จะกำจัดหรือลดสต๊อกน้ำมันจำนวนนี้ลงได้อย่างไร เพื่อดึงราคาน้ำมันให้ขึ้นสูงกว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐOต่อบาร์เรล ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีทั้งปัจจัยเรื่อง demand และ supply ประกอบกัน กลุ่ม OPEC+ อาจไม่สามารถควบคุม demand ได้ 

แต่ในส่วนของ supply กลุ่ม Opec+ ได้มีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นกับชาติสมาชิกที่ไม่รักษาวินัยในการผลิตน้ำมันตามข้อตกลง อย่างเช่น อิรัก ไนจีเรีย และอาเซอร์ ไบจัน โดยมีการตรวจสอบให้ประเทศเหล่านี้ต้องผลิตน้ำมันตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด และส่วนที่ผลิตเกินไปแล้ว ต้องนำมาหักออกจากการผลิตในเดือนถัดไป

ไม่ว่ากลุ่ม OPEC+ จะทำสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่ในส่วนของความต้องการน้ำมัน เราคงไม่เห็นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในรูปตัว V เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีในการฟื้นตัว

นั่นหมายความว่าเราจะยังคงอยู่กับน้ำมันราคาถูกไปอีกนานครับ !!!

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,592 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563