บทเรียน"โควิด" บขส.ผุดไอเดีย ดึง"AI" รับแผน 5 ปีข้างหน้า

03 พ.ค. 2563 | 01:00 น.

บขส.จ่อปรับแผนดำเนินงานอีก 5 ปีข้างหน้า หลังผ่านมรสุมโควิด-19 ดึง AI อัพบิ๊กดาต้า เข้าถึงลูกค้าต่อเนื่อง หนุนใช้รถไฟฟ้า (EV) หวังลดต้นทุน-ฝุ่น PM 2.5

ความเสียหายจากไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ที่ทุกอุตสาหกรรมต่างต้องปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรม ที่เรียกว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) โดยเน้นนวัตกรรมมาเป็นตัวช่วย เพื่ออำนวยความสะดวกดึงดูดลูกค้า แม้แต่การเดินรถ

บทเรียน"โควิด" บขส.ผุดไอเดีย ดึง"AI" รับแผน 5 ปีข้างหน้า

แหล่งข่าวจากบริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากสถานการณ์ช่วงโควิด-19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทาง บขส.มีแนวคิดที่จะปรับแผนดำเนินงานในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งหมด 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูล(Big Data) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชนที่เดินทางซื้อตั๋วโดยสาร โดยเป็นการพัฒนาโปรแกรมเพื่อเก็บข้อมูล เนื่องจาก บขส.มีข้อมูลดิบสำหรับวิเคราะห์เส้นทางการเดินรถในแต่ละเดือน ซึ่งจะนำมาปรับใช้ในการเดินรถโดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร

“ทั้งนี้การพัฒนาโปรแกรมเพื่อเก็บข้อมูลนั้น จะวิเคราะห์ช่วงก่อนถึงเทศกาลด้วยว่าเส้นทางบริเวณใดที่ประชาชนเดินทางเยอะและมีการเดินทางตลอดเต็มทั้งเส้นทาง หรือช่วงเวลาใดที่ไม่ค่อยมีประชาชนเดินทางผ่านเส้นทางนั้นๆ โดยโปรแกรมดังกล่าวจะมีการวิเคราะห์เส้นทางที่แตกต่างกัน เรามองว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนได้ง่ายมากขึ้น”

บทเรียน"โควิด" บขส.ผุดไอเดีย ดึง"AI" รับแผน 5 ปีข้างหน้า

แหล่งข่าวจากบริษัท ขนส่ง จำกัด กล่าวต่อว่า 2.ตำแหน่งสถานีที่เหมาะสม (Size) จากเดิมที่มีสถานีของบขส.กระจายอยู่บริเวณที่ตั้งใหญ่ๆ เช่น สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ หมอชิต (จตุจักร) สถานีขนส่งกรุงเทพฯ (สายใต้ใหม่) แต่ระยะต่อไปสถานีของบขส.จะกระจายเข้าไปอยู่ในบริเวณชุมชนมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาขึ้นที่สถานีใหญ่ๆ ซึ่งจะช่วยระบายการจราจรที่แออัด ขณะเดียวกัน ทางบขส.มีบิ๊กดาต้า ที่สามารถทราบข้อมูลเบื้องต้นได้ว่าลูกค้าของบขส.อยู่บริเวณใดบ้าง

นอกจากนี้ 3.การปรับใช้รถไฟฟ้า (EV) เนื่องจากในปัจจุบันการเดินทางส่วนใหญ่มักจะใช้รถแบบน้ำมัน ทั้งนี้ความสะดวกของ บขส. คือการที่มีเส้นทางเดินรถประจำ ทราบข้อมูลทั้งต้นทางและปลายทางการเดินรถ ระยะเวลาการเดินรถ จุดพักแวะของรถบขส. ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งความสะดวกเหล่านี้เหมาะสมกับการใช้รถไฟฟ้า (EV) เนื่องจากเรามีการกำหนดขอบเขตการเดินรถตามเส้นทางที่ชัดเจน ทำให้ทราบข้อมูลบริเวณที่มีจุดชาร์จแบตเตอรี่ (Charger Station) สำหรับรถไฟฟ้า (EV) ซึ่งถือเป็นความได้เปรียบ เมื่อมีการผลิตรถไฟฟ้า (EV) เพื่อใช้งานออกมา ในส่วนของการชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้า (EV) ตามปกติในแต่ละครั้งสามารถเดินรถได้ราว 500 กิโลเมตรต่อครั้ง หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้า (EV) ตามระยะทางที่กำหนดครบ 500 กิโลเมตร (กม.) จะถึงบริเวณจุดชาร์จรถเร็ว (Quick Charge) พอดี โดยใช้ระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ระหว่างทางเพียง 15 นาที เท่านั้น ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้า (EV) สามารถวิ่งเดินรถได้อีก ราว 200 กิโลเมตร (กม.) จนสิ้นสุดปลายทางการเดินรถ

“ปัจจุบัน บขส.มีรถที่ต้องเช่า ประมาณ 4 ปี แต่เชื่อว่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า การนำรถไฟฟ้า (EV) เข้ามาใช้นั้น จะมีราคาที่ถูกลง ซึ่งใกล้เคียงกับราคารถแบบน้ำมัน ทั้งนี้จะช่วยลดปัญหาการเกิดฝุ่น PM 2.5 ลดการเกิดเสียงดังจากรถและควันดำ รวมถึงช่วยลดต้นทุนของบขส. เนื่องจากจำนวนอุปกรณ์ภายในรถไฟฟ้า (EV) มีน้อยกว่ารถแบบน้ำมัน ทำให้การซ่อมบำรุงและการรักษารถน้อยลงเช่นกัน เชื่อว่าแนวโน้มเทคโนโลยีนี้ต้องเกิดขึ้นแน่นอน”

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

บทเรียน"โควิด" บขส.ผุดไอเดีย ดึง"AI" รับแผน 5 ปีข้างหน้า