โควิดฉุดจีดีพีภาคอุตฯ คาดปี 63 หดตัว 6.5% 

28 เม.ย. 2563 | 01:50 น.

กระทรวงอุตฯประเมินโควิด-19 ฉุดจีดีพีภาคอุตสาหกรรมทั้งปี 2563 หดตัว 5.5-6.5% ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 6-7% ลุ้นเศรษฐกิจไทยกระเตื้องช่วงครึ่งหลัง จากส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นตัวช่วย

 

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้มีการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อภาพรวมอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดการณ์ว่า ปี 2563 การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะหดตัว 5.5 - 6.5% และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) จะหดตัว 6-7% ภายใต้สมมติฐานการส่งออกสินค้าและบริการจะหดตัว 9.0%

 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญประกอบด้วย 1.การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักของไทย อาทิ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วน 2.ภาวะภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการลดลงของผลผลิตข้าวเป็นสำคัญ 3.ระยะเวลาในการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน รวมทั้งรายได้ของภาคครัวเรือนที่ตกต่ำ และ 4.ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากสงครามน้ำมันระหว่างกลุ่มประเทศโอเปกและประเทศพันธมิตร

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นบ้างจากปัจจัยดังนี้ 1.การส่งออกสินค้า คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบรรลุข้อตกลงในการเจรจาข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น 2.ประเทศคู่ค้าหลักของไทยมีความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ไก่แช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง และน้ำตาล เป็นต้น

 

และ3.รัฐบาลออกมาตรการการเงินและการคลัง เช่น มาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” แจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือน จำนวน 14 ล้านคน เป็นระยะเวลา 6 เดือน และมาตรการพักชำระหนี้ให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

 

“จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งด้านบวกและด้านลบที่กล่าวมา หากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของทั้งไทยและทั่วโลกสามารถควบคุมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เป็นปกติตามเม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าในระบบ ประกอบกับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจมาได้หลายครั้งเป็นอย่างดี”

 

นางสาวสุชาดา กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลกเป็นวงกว้าง และแพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังส่งกระทบไปถึงการชะงักงันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งการยกเลิกเที่ยวบิน การยกเลิกการจองโรงแรม การยกเลิกกิจกรรมต่าง ๆ ลามไปถึงการชะลอการผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่อยู่ภายใต้ระบบห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) อันส่งผลต่อเนื่องไปสู่ผลกระทบด้านการค้าและการลงทุนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการที่ประชาชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันการติดเชื้อต่างๆ รวมไปถึงการที่คนจะต้องมีการกักตัวอยู่กับบ้านจนทำให้ขาดรายได้ก่อให้เกิดความเครียดและปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา อีกทั้งในภาคการเงินเองการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมไปถึงการที่อีกหลายประเทศเลือกที่จะทำการปิดประเทศ ทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งมีที่มาจากวิกฤติสุขภาพเป็นสำคัญ

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน พ.ศ. 2563

โควิดฉุดจีดีพีภาคอุตฯ  คาดปี 63 หดตัว 6.5%