เยียวยาขนส่ง-รถสาธารณะ พักหนี้ 6 เดือน ยืดผ่อน 96 งวด

16 เม.ย. 2563 | 05:00 น.

กรมขนส่งฯ งัดมาตรการพักชำระหนี้ยาว 6 เดือน-ขยายผ่อนค่างวดได้อีก 96 เดือน หนุนผู้ประกอบการขนส่ง-ขับรถสาธารณะ หลัง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนส่งและผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะที่มีการหยุดเดินรถบางเส้นทางในช่วงประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก หารือร่วมกับ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งและผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะ

ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที ทั้งขยายระยะเวลา และการพักชำระหนี้

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการดังกล่าว ทางสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการพักชำระหนี้ได้ระยะเวลา 6 เดือน และสามารถขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีกได้ไม่เกิน 96 เดือน โดยรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ เป็นไปตามที่ ธปท. กำหนด

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NON-BANK) หรือบริษัทลีสซิ่งที่ปล่อยกู้กับผู้เช่าซื้อรถยนต์ เบื้องต้น จำนวน 15 แห่ง มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านสินเชื่อ โดยพักชำระหนี้ 3-6 เดือน และขยายเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 96 เดือน ตามข้อเสนอของกรมการขนส่งทางบกและผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งจะครอบคลุมรถโดยสารและรถบรรทุก ทั้งประเภทไม่ประจำทางและประจำทาง รวมถึงรถแท็กซี่ และรถรับจ้างประเภทอื่นๆ

เยียวยาขนส่ง-รถสาธารณะ พักหนี้ 6 เดือน ยืดผ่อน 96 งวด

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า สำหรับเงื่อนไขมาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ขึ้นอยู่กับศักยภาพของสถาบันการเงินแต่ละราย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการสามารถแจ้งการหยุดใช้รถในช่วงนี้ เพื่อขอรับเบี้ยประกันภัยในช่วงเวลาที่หยุดใช้รถคืนหรือผู้ประกอบการอาจตกลงกับบริษัทผู้รับประกัน เพื่อนำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนมาขยายระยะเวลาคุ้มครองได้

โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทย แจ้งปรับหลักเกณฑ์การแจ้งหยุดใช้รถตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ให้ผู้ประกอบการขนส่งและผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะ สามารถทำหนังสือถึงบริษัทประกันภัยเพื่อแจ้งหยุดใช้รถได้โดยตรงกับบริษัทประกันภัย โดยมีเงื่อนไขระยะเวลาในการแจ้งหยุดใช้รถต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน

ทั้งนี้ผู้ประกอบการขนส่งและผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะที่หยุดเดินรถบางเส้นทางชั่วคราวนั้นและต้องการขอพักชำระหนี้สามารถดำเนินการติดต่อกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NON-BANK) หรือบริษัทลีสซิ่ง ได้ทันที

“หลังจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้จำนวนรถโดยสารสาธารณะและผู้ประกอบการขนส่ง รวมถึงผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะ ลดลงไม่ถึง 10% ของการเดินทางทั้งหมด ซึ่งการหยุดเดินรถชั่วคราวนั้นเป็นการหยุดเดินแค่บางเส้นทาง โดยจังหวัดใดก็ตามที่มีการประกาศปิดจังหวัดห้ามเข้าออกพื้นที่นั้น ทำให้มีการปรับจุดการเดินรถทั้งรถโดยสารสาธารณะกรุงเทพฯ และรถโดยสารสาธารณะระหว่างจังหวัด”

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสวิด-19 นั้น ส่งผลให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home) มากกว่าเดินทางมาทำงานข้างนอก ทำให้ขสมก.มีการปรับเที่ยววิ่งรถโดยสารสาธารณะลดลงราว 30% และมีจำนวนรถโดยสารสาธารณะที่อยู่ระหว่างการเดินรถอยู่ราว 70% จากเดิมที่สามารถเดินรถด้วยรถโดยสารสาธารณะได้ 100% ขณะเดียวกันห้างสรรพสินค้าและร้านค้าหลายแห่งมีการปิดทำการ ทำให้ผู้โดยสารเดินทางรถโดยสารสาธารณะน้อยลง

“หลังจากเกิดสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้ ขสมก.ได้รับผลกระทบจากรายได้ เนื่องจากผู้โดยสารหายไป ราว 60% ส่งผลให้รายได้ของเราลดลงเหลือเพียงกว่า 4 ล้านบาท จากเดิมที่มีรายได้ราว 11 ล้านบาท อีกทั้งเราใช้มาตรการเว้นระยะห่าง (social distancing) ทำให้รถโดยสารสาธารณะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียง 25 คนต่อคัน จากเดิมรถโดยสารสาธารณะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 คนต่อคัน ในส่วนการขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) นั้น ยังไม่ได้พิจารณา ซึ่งจะต้องรอประเมินสถานการณ์ช่วงนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร”

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,566 วันที่ 16-19  เมษายน พ.ศ. 2563

เยียวยาขนส่ง-รถสาธารณะ พักหนี้ 6 เดือน ยืดผ่อน 96 งวด