เลื่อนโอลิมปิกฉุดส่งออกไก่ ตลาดในปท.ทรุดโควิดทุบกำลังซื้อ

02 เม.ย. 2563 | 01:20 น.

เลื่อนโอลิมปิกฉุดส่งออกไก่ ตลาดในปท.ทรุดโควิดทุบกำลังซื้อ

 ผู้ผลิต-ส่งออกไก่เซ็ง ญี่ปุ่นเลื่อนจัดโอลิมปิก ทุบโอกาสขยายตลาดเพิ่ม ตลาดอียูยังต้องลุ้น สมาคมผู้ผลิตไก่ฯ ชี้สถานการณ์ยังไม่น่าไว้ใจ แต่ยังคงเป้าทั้งปี 9.8 แสนตัน ด้านตลาดในประเทศน่าห่วง โควิดฉุดราคาไก่-กำลังซื้อวูบหนัก

 

การประกาศเลื่อนจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ของญี่ปุ่น โดยเลื่อนไปเป็นปีหน้า ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬาและกองเชียร์ จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ยังลามทั่วโลก ด้านหนึ่งส่งผลให้สินค้ากลุ่มอาหารของไทยส่งออกไปญี่ปุ่นที่คาดหวังจะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มเพื่อรองรับโอลิมปิกครั้งนี้ถูกลดโอกาสลง ซึ่งรวมถึงสินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูปที่ญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่สุดของไทยในปีที่ผ่านมา

 

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเลื่อนจัดแข่งขันโอลิมปิกของญี่ปุ่นกระทบโอกาสในการส่งออกสินค้าไก่จากเดิมที่คาดจะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งออกสินค้าไก่ของไทยไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นในปีนี้ จากปี 2562 ไทยมีการส่งออกสินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูปปริมาณรวม 954,000 ตัน มูลค่า 111,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ปริมาณ​ 438,000 ตัน​ มูลค่า​ 59,700 ล้านบาท​ ตลาดสหภาพยุโรป(อียู) 320,000​ ตัน​ มูลค่า​ 33,800 ล้านบาท​ ตลาดอื่นๆ​ 196,000 ตัน​ มูลค่า​ 18,000​ ล้านบาท​

 

“ภาพรวมการส่งออกสินค้าไก่ไปญี่ปุ่นในปีนี้เบื้องต้นคาดการณ์จะทำได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เพราะถึงแม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบจากการเลื่อนจัดโอลิมปิกรวมถึงโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง แต่หากเขาจัดการปัญหาการแพร่ระบาดได้เร็ว เศรษฐกิจและกำลังซื้อกลับมาฟื้นตัว ความต้องการบริโภค และการนำเข้าทั้งปีอาจใกล้เคียงกับปีที่แล้ว”


อย่างไรก็ตามผลพวงจากไวรัสโควิดในญี่ปุ่นที่กระทบกับการบริโภคเวลานี้ ทำให้คู่ค้าชะลอนำเข้าและขอลดราคาสินค้าลง โดยราคาไก่สดแช่แข็งส่งออกไปญี่ปุ่นจากต้นปีเฉลี่ย 2,700-2,800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ปัจจุบันอ่อนตัวลงอยู่ที่เฉลี่ย 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะตลาดอียูตลาดส่งออกอันดับ 2 ส่วนใหญ่สั่งออร์เดอร์ในโควตาภาษีในครึ่งปีแรกไปแล้ว รอเพียงการส่งมอบ ซึ่งราคาก็อ่อนตัวลงเช่นกัน ส่วนตลาดจีนตลาดส่งออกอันดับ 3ในปีที่แล้ว คาดปีนี้จะส่งออกได้เพิ่มขึ้นอีก 1.5-2 หมื่นตัน (จากปี 2562 ส่งออกได้ 65,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ส่งออก 18,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 261% จากจีนมีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร คนหันมาบริโภคไก่เพิ่มขึ้น) เวลานี้มีคำสั่งซื้อเข้ามามาก แต่คงต้องแข่งขันด้านคุณภาพและราคากับสินค้าไก่จากบราซิล สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ มากขึ้น

 

“ในเบื้องต้นสมาคมยังไม่ปรับลดเป้าหมายการส่งออกปี 2563 ลง จากตั้งเป้าไว้ที่ 980,000 ตัน มูลค่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของตลาดจีนปีนี้คงเพิ่มขึ้นแน่นอน ส่วนตลาดญี่ป่นและอียูยังต้องลุ้น”

 

ด้านนางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า การส่งออกสินค้าไก่ในปีนี้ ยังไปได้ แต่ตลาดในประเทศเวลานี้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้สถานประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวปิดตัวจำนวนมาก ทั้งโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ตลาดนัด โรงเรียนปิดเทอม คนตกงานขาดกำลังซื้อ และอื่นๆ ส่งผลทำให้การบริโภคไก่ลดลง กระทบราคาไก่ที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มปรับตัวลดลง ล่าสุดอยู่ที่ 28-32 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) จาก ต้นปีเฉลี่ยที่ 33-35 บาทต่อกก. หากสถานการณ์ลากยาว ราคาไก่ จะปรับตัวลดลงอีก จะกระทบโรงงานแปรรูปไก่เพื่อตลาดในประเทศและผู้เลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2 - 4 เมษายน พ.ศ. 2563

เลื่อนโอลิมปิกฉุดส่งออกไก่ ตลาดในปท.ทรุดโควิดทุบกำลังซื้อ