‘โควิด’ลากยาว ทุบส่งออกติดลบ รอบ10ปี      

28 มี.ค. 2563 | 22:40 น.

ส่งออกไทยเสี่ยงหดตัวมากสุดรอบ 10 ปี ม.หอการค้าไทยประเมินโควิดลากยาวเกิน 9 เดือน ติดลบถึง 7.1% แนะ 6 คาถาผู้ประกอบการฝ่าวิกฤติ กกร.เตรียมถกลดคาดการณ์จีีดีพี-ส่งออกรอบ 4 ข้างสรท.ยังมองแง่ดี ไม่ติดลบมาก หลังสหรัฐฯ-ยุโรปอัดเงินสู้

 

 

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า ล่าสุดทางศูนย์ได้มีการประเมินผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ต่อภาคการส่งออก แบ่งเป็น 3 สถานการณ์ 1.กรณีปกติคือสถานการณ์โควิด จบภายใน 6 เดือนหรือภายในเดือนมิถุนายน การส่งออกไทยจะติดลบที่ 1.8% (กราฟิกประกอบ) 2.กรณีแย่ คือสถานการณ์จบใน 9 เดือน หรือจบภายในเดือนกันยายน ส่งออกจะติดลบ 3.7% และ 3.กรณีแย่มาก คือสถานการณ์เกิน 9 เดือน หรือมากกว่าเดือนกันยายน ส่งออกไทยปี 2563 จะติดลบที่ 7.1% ซึ่งจะหดตัวมากสุดในรอบ 10 ปี (นับจากปี 2552 ที่ส่งออกไทยติดลบ 14.3%)

“ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ส่งออกไทยปีนี้ยังติดลบ มี 4 เรื่องหลักคือเศรษฐกิจโลกตกตํ่าจากโควิด-19 คิดเป็นนํ้าหนักผลกระทบ 80% ค่าเงินบาทที่ผันผวน 10% สงครามการค้า 5% และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน 5% ทั้งนี้สถานการณ์โควิดในจีนแม้จะคลี่คลายลง แต่การส่งออกของไทยไปจีนปีนี้คาดจะติดลบ 1.2% ถึงลบ 13.5% ซึ่งขึ้นกับสถานการณ์โควิดของโลก เพราะจีนเป็นทั้งตลาดและศูนย์กลางห่วงโซ่การผลิตของโลก การที่โควิดในประเทศต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น จะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าจีนไปทั่วโลกลดลงด้วย”

ข้อแนะนำผู้ส่งออกไทยในการประคองธุรกิจให้อยู่รอดในช่วงวิกฤตินี้คือ 1.ปรับลดราคาสินค้าลงแต่คงคุณภาพ 2.กลุ่มอาหารติดต่อร้านขายของชำต่างประเทศที่จะขายผ่าน “E-Grocery” ออนไลน์ 3.ปรับแผนการลดกำลังการผลิต 1 ปี 4.แบ่งสัดส่วนสินค้ามาขายในประเทศเพื่อประคองธุรกิจผ่านทางออนไลน์ 5.เข้าร่วมโปรแกรมการช่วยเหลือจากภาครัฐ เน้นปรับปรุงเครื่องจักร บุคลากร เพื่อยกระดับธุรกิจ และ 6.ตลาดจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่รายได้คนจีนลดลง สินค้าที่ส่งไปไม่ควรแพงกว่าคู่แข่ง

ด้านนายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เผยว่า ในวันที่ 8 เมษายนนี้ กกร.จะมีการประชุมเพื่อประเมินตัวเลขเศรษฐกิจ คาดจะมีปรับคาดการณ์ขยายตัวจีดีพี และการส่งออกลงเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ จากล่าสุดในการประชุมเมื่อวันที่ 4 มีนาคม กกร.ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของจีดีพีลงเหลือ 1.5-2.0% แต่คงคาดการณ์ส่งออกไว้ที่ -2% ถึง 0% และเงินเฟ้อ 0.8-1.5% ปัจจัยหลักเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ที่เวลานี้มีสัญญาณกระทบกับภาคการส่งออกเพิ่มขึ้น จากคู่ค้าในยุโรปและอเมริกา ได้ทยอยลด หรือยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพมากขึ้น

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้จะติดลบ 5.3% และส่งออกติดลบถึง 8.8% ว่า เป็นการมองสถานการณ์แบบกรณีเลวร้าย ส่วนตัวมองว่าจีดีพีและส่งออกไทยคงไม่ติดลบมากขนาดนั้นเพราะเวลานี้ประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเยียวยา เช่น แจกเงินประชาชนเพื่อให้มีกำลังซื้อในช่วงวิกฤติโควิด

มาตรการคุมเข้มและมาตรการเยียวยาในแต่ละประเทศจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ต้นเดือนเมษายนนี้สรท.จะประเมินคาดการณ์ส่งออกไทยใหม่อีกครั้งคาดไม่ติดลบมาก

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2563