ลุยสร้างแทรมเชียงใหม่ ค่าโดยสาร 14บาท

13 มี.ค. 2563 | 10:49 น.

รฟม. เดินหน้าศึกษาแทรมป์เชียงใหม่ ระยะทาง 16 กม. คาดผู้โดยสารใช้บริการปี 70 ราว 16,000 คนต่อวัน เตรียม ชงครม.ไฟเขียวกลางปี 64  พร้อมประเมินค่าโดยสารเริ่มต้น 14 บาท

 

 

 

 

 

วันนี้ (13 มีนาคม 2563) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดงานสัมมนาสื่อมวลชน (Press Seminar) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการฯ และสร้างการรับรู้บทบาทของ รฟม. ในการริเริ่มดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าเมืองภูมิภาคให้สื่อมวลชนรับทราบ โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ให้เกียรติเป็นประธาน และเข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “Red Line Chiang Mai จากรถไฟฟ้ามหานครสู่รถไฟฟ้าเมืองภูมิภาคพร้อมด้วย นายถนอม รัตนเศรษฐ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. นายกันต์ณธีร์ เนติโรจนชัยชาญ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการ นายเฉลิมศักดิ์ สุรนันท์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนายสมชาย เอื้อวงษ์ชัย กรรมการเลขาธิการหอการค้าเชียงใหม่ เข้าร่วมเสวนา ณ ห้องดอยหลวง โรงแรมแคนทารีฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนเมืองหลักในภูมิภาค ซึ่งโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ แยกแม่เหียะสมานสามัคคี เป็นหนึ่งในโครงการระบบขนส่งมวลชนในเมืองภูมิภาคที่ รฟม. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ

 

 

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า  สำหรับรูปแบบแทรมป์เชียงใหม่ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะ นั้นเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) ทางวิ่งผสมระดับดินและใต้ดิน  มีแนวเส้นทางตามแนวเหนือใต้ ระยะทางรวมประมาณ 16 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีใต้ดิน 7 สถานี ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่  700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์ สถานีประตูสวนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี มีอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณจุดเริ่มต้นโรงพยาบาลนครพิงค์ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 1,600 คัน และรถจักรยานยนต์ 800 คัน และบริเวณที่ว่างข้างสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 1,200 คัน และรถจักรยานยนต์ 2,800 คัน มีศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการตั้งอยู่บริเวณแยกหนองฮ่อ ขนาดพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ โดยมีกรอบวงเงินลงทุนโครงการรวมประมาณ 27,000 ล้านบาท

 

สำหรับการดำเนินงานขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ซึ่งตามแผนงานเมื่อการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีประมาณกลางปี 2564 และเริ่มก่อสร้างภายในปี 2565 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะเป็นการเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน มีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้

 

นายถนอม รัตนเศรษฐ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่าในช่วงการเปิดให้บริการแทรมป์เชียงใหม่ในปี 70 ซึ่งเป็นปีแรกนั้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการ ราว 16,000 คนต่อวัน และมีจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการต่อชั่วโมง ราว 1,200 คน ขณะที่อัตราค่าโดยสารเบื้องต้นจะมีดารจัดเก็บ 2 ส่วน ประกอบด้วย ค่าแรกเข้า 14 บาท และตามระยะทาง +1 บาท ทุกๆ 1 กิโลเมตร

 

"เรามองว่าสำหรับการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารนั้น เป็นราคาที่เหมาะสมเมืาอเทียบกับค่าครองชีพของประชาชนผู้ใช้บริการ ขณะเดียงกันมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ 13%  โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านงานโยธา ราว 70-80% และเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบอีก 20%"

 

นอกจากนี้ความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาคอื่นๆ ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานฯ ห้าแยกฉลอง และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน สถานคุ้มครองฯ บ้านนารีสวัสดิ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการ ทั้งนี้ในส่วนของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง ช่วง ม.นเรศวร เซ็นทรัลฯ พิษณุโลก คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าฯ จังหวัดพิษณุโลก