ผ่าตัดใหญ่ นมโรงเรียน แบ่งเค้กหมื่นล. แก้ผูกขาดโควตา

24 ม.ค. 2563 | 00:25 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ลุยผ่าตัดนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้านใหม่ เป้าสร้างความเป็นธรรมทุกภาคส่วน ดีเดย์ 5 ก.พ.เปิดรับฟังความคิดเห็น “ชุมนุมโคนม” ยกมือหนุน หลังหลักเกณฑ์เดิมยังแก้ปัญหาผูกขาดโควตาไม่ได้ จี้จัดสรรสิทธิพร้อมกันทั่วประเทศ

โครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานประจำปีการศึกษา 2562 (เทอม 1 และ 2) เป็นระบบใหม่ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 แต่ปรากฏยังมีปัญหาทางปฏิบัติทำให้ไม่สามารถแก้ไขระบบผูกขาดโควตาได้ เป็นที่มาของการยกร่างแก้ไขหลักเกณฑ์ใหม่โดยกรมปศุสัตว์เป็นผู้ดำเนินการจะเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้

 

ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ

90ไฟลต์จีนทะลักกระบี่

ตระกูลดัง-บ้านโบราณ ไม่สะท้าน ภาษีที่ดิน

เอกชนร้องคนกลุ่มเดียวทำศก.พัง ไตรมาสแรกจ่อไอซียู

นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการประธานคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวสั้นๆ กับฐานเศรษฐกิจว่า เหตุผลของการยกร่างแก้ไขหลักเกณฑ์นมโรงเรียนใหม่ก็เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนร่วม

 

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ยังไม่เห็นร่างแก้ไขหลักเกณฑ์ฯ แต่พอทราบคร่าวๆ ซึ่งทางชุมนุมฯ ขอเสนอคือ ตัวเลขเอ็มโอยูนํ้านมดิบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นตัวเลขที่ไม่มีการรับรองปริมาณนํ้านมดิบซํ้าซ้อนในการจัดทำพันธะสัญญา เช่น หากนำนํ้านมดิบไปรับรองโควตานำเข้านมผงแล้วจะมาเข้าโครงการไม่ได้ เป็นต้น

ส่วนวิธีการจัดสรรสิทธินมโรงเรียนเพื่อความเป็นธรรมในกรณีนํ้านมดิบเกินเอ็มโอยูนมโรงเรียน ที่ปกติจะใช้นํ้านมดิบเฉลี่ยเทอมละกว่า 1,000 ตันเศษ กับจำนวนเด็กนักเรียนประมาณ 7.3-7.4 ล้านคน ให้ใช้การคำนวณปรับลดสิทธิสำหรับผู้ประกอบการ อาทิ ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิโควตานมโรงเรียนวันละ 1-5 ตัน ไม่ต้องปรับลดสิทธิ ส่วนผู้ที่ได้รับสิทธิมากกว่า 5-10 ตันต่อวัน ปรับลดสิทธิ 10% หรือคิดเป็นปริมาณนํ้านม 0.51-1.0 ตัน (กราฟิกประกอบ)”

ผ่าตัดใหญ่ นมโรงเรียน  แบ่งเค้กหมื่นล.  แก้ผูกขาดโควตา

ที่สำคัญผู้ประกอบการแต่ละรายควรได้รับสิทธิสูงสุดไม่เกิน 80 ตันต่อวัน และหากมีศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบเป็นของตนเองควรจะได้รับพิจารณาเป็นอันดับแรก แต่หากมีโรงงานใหม่เข้าร่วมโครงการมากขึ้นผู้ประกอบการแต่ละขนาดรวมถึงที่ได้สิทธิโควตา 1-5 ตันต่อวันต้องถูกกำหนดให้ต้องปรับลดสิทธิด้วย และให้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขใหม่

พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และกรุงเทพฯ ให้จัดเป็นพื้นที่พิเศษผู้ประกอบการใดรับผิดชอบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ได้สิทธิจำหน่ายในกรุงเทพฯ ด้วย พร้อมกับขยายเวลาให้เด็กได้ดื่มนมจาก 260 วัน เป็น 365 วัน เพื่อแก้ปัญหานมล้นช่วงปิดภาคเรียน และให้ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นข้ามกลุ่มได้ และควรได้รับสิทธิพิจารณาตามหลักเกณฑ์เท่าเทียมกัน ที่สำคัญก็คืออยากให้จัดสรรสิทธิพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ใช่จัดแบ่งเป็นรายภาค เพื่อจะได้เห็นภาพรวม เพราะสหกรณ์โคนมมีทั่วประเทศจะแก้ปัญหาเป็นรายภาคไม่ได้

 

ด้านนายเชวงศักดิ์ สงวนวงศ์วิจิตร ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด กล่าวว่าร่างดังกล่าวนี้ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ เกรงว่าจะไปขัดกับมติ ครม. (27 มี.. 62) แต่ไม่ได้ขัดขวาง

ขณะที่นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ กล่าวว่า ร่างหลักเกณฑ์ที่ทดลองใช้ มา 2 เทอมในปี 2562 สถาน การณ์ยังมีปัญหาในเรื่องการผูกขาดโควตาที่ยังเป็นรายเดิมๆ เห็นด้วยที่กรมปศุสัตว์จะแก้ไขปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์และแนวทางฯ เพื่อปรับปรุงในรายละเอียดให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในภาคเรียนที่ 1/2563 ที่จะเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคม เช่น วันส่งสินค้า วันทำสัญญา การชำระหนี้ของภาคเอกชนที่ไม่ค่อยชำระกัน จะลงรายละเอียดตรงนี้มากขึ้น เป็นต้น

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563