ส่งออกไทย 10 เดือนยังติดลบ 2.3%

21 พ.ย. 2562 | 04:19 น.

ส่งออกเดือนตุลาคมยังติดลบต่อเนื่องที่ 4.5% ส่งผลตัวเลข 10 เดือนยังติดลบ 2.3% คาดทั้งปี -1.5 ถึง -2% ผลพวงสงครามการค้า ยังฉุดเศรษฐกิจ การค้าโลกชะลอตัว เล็งปี 63 ส่งออกไทยคาดพลิกกลับขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 1.5-2% แต่ต้องขยันทำการบ้าน

 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคม 2562 ยังติดลบในอัตราชะลอตัวลงโดยมีมูลค่า 20,757ล้านดอลลาร์สหรัฐฯติดลบ 4.5%  ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 20,251 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.5%  ส่งผลให้ยอดส่งออก 10 เดือนแรกปี 2562  มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 207,329 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 2.3 % ขณะที่ตัวเลขนำเข้า 10 เดือนมีมูลค่ารวม 199,441ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 4.09 %  ทำให้ยอดดุลการค้าของไทยในเดือนตุลาคมเกินดุลที่ 506 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ10 เดือนแรกยังเกินดุล 7,887 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สาเหตุที่ทำให้การส่งออกของไทยและทั่วโลกในเดือนตุลาคมลดลง มาจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน แม้ช่วงนี้สถานการณ์ดูจะไม่ร้อนแรง และชะลอมาตรการตอบโต้ระหว่างกัน โดยทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามยังส่งผลให้หลายประเทศยังคงกังวลปัญหาจะกลับมามีปัญหาได้อีก ส่งผลให้ยอดส่งออกโดยรวมไม่ค่อยดีนัก แต่หากหักมูลค่ากลุ่มสินค้าทองคำและน้ำมันออก การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมจะติดลบเพียง 1%  เท่านั้น

ส่งออกไทย 10 เดือนยังติดลบ 2.3%

“แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือนตุลาคมจะติดลบ แต่มีมูลค่าการส่งออกเกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจที่มูลค่ายอดรวมยังสูงอยู่ ประกอบกับสินค้าหลายรายการของไทยมีอัตราขยายตัวที่ติดลบน้อยลง เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกค์และส่วนประกอบที่สามารถขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น   ดังนั้นคงต้องติดตามในช่วง 2 เดือนที่เหลือปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนจะยังติดลบและในเดือนธันวามคมน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก ทำให้ยอดส่งออกไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวเป็นบวก 0.1 % และส่งผลให้ยอดส่งออกทั้งปีของไทยจะติดลบเพียง 1.5-2%  หรือมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้ บนพื้นฐานเงินบาทต้องไม่แข็งค่าไปมากกว่าตอนนี้

 

ส่งออกไทย 10 เดือนยังติดลบ 2.3%

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนตุลาคม พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 4.3%  โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 28.7% ซึ่งขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย จีน กัมพูชา มาเลเซีย และเกาหลีใต้, เครื่องดื่ม ขยายตัว 14.4 %ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา จีน และสิงคโปร์ เป็นต้น 

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 2.6%  โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ นาฬิกาและส่วนประกอบ ขยายตัว 72%  ซึ่งตลาดที่ขยายตัวได้ดีเช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ และเยอรมนี  เป็นต้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ 25.8%  ซึ่งหดตัวในตลาดจีน เวียดนาม กัมพูชา แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย ส่วนทองคำ หดตัว22.2%

ทั้งนี้ตลาดส่งออกสำคัญยังคงหดตัว แต่มีสัญญาณการขยายตัวมากขึ้น และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัวเพียง 0.6%  เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯขยายตัว 4.8%  และญี่ปุ่นขยายตัว 0.5 %   ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปหดตัว 8.8%

ส่งออกไทย 10 เดือนยังติดลบ 2.3%

ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวหรือติดลบ 7.6%  เป็นผลมาจากการส่งออกไป CLMV ติดลบ 939% (อาเซียน5)  ติดลบ 8.9% และจีนติดลบ 4.2 %    สำหรับตลาดศักยภาพระดับรองติดลบ 6.4%  เนื่องจากการส่งออกไปตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลาตินอเมริกา และแอฟริกา หดตัว  ขณะที่การส่งออกไปตะวันออกกลางกลับมาขยายตัว 3.7 %  

ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 4.8%  ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น  ส่วนตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว0.5 % และเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ  และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น

ด้านตลาดจีนติดลบ 4.2%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ   ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป(15) ติดลบ 8.8%  ซึ่งสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ส่วนตลาด CLMV  ติดลบ9.9%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ  เม็ดพลาสติก และผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง   ตลาดอินเดีย ติดลบ 17.2%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ  เป็นต้น

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินภาพรวมตัวเลขการส่งออกในปีหน้า(2563) หลังจากผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ได้ออกไปทำตลาดต่างประเทศได้ต่อเนื่อง และผลจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนน่าจะมีทางออกที่ดี น่าจะทำให้การส่งออกในปีหน้าทั่วโลกจะกลับมาดี ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์คาดว่ายอดส่งออกในปีหน้าจะเป็นบวกได้ 1.5-2%  หรืออาจมากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างประเมินภาพรวมและปัจจัยต่าง ๆ ให้รอบด้านให้ชัดเจนก่อน คาดจะประกาศเป้าหมายตัวเลขส่งออกปี 2563 ได้ในเร็ว ๆ นี้

ส่งออกไทย 10 เดือนยังติดลบ 2.3%

“แนวโน้มการส่งออกยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเริ่มขยายวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายปี นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงรายภูมิภาค/ประเทศ และด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและเงินบาทที่แข็งค่า ยังเป็นปัจจัยกดดันการค้าและการส่งออกไทย  ในระยะสั้น-กลาง อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไปได้บ้าง โดยผู้ส่งออกอาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกทางหนึ่ง”

ในระยะที่ผ่านมา การส่งออกไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ สะท้อนพื้นฐานการส่งออกที่ดีและมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวและกระจายการส่งออกในสินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน ทั้งในตลาดเดิม และตลาดศักยภาพใหม่

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังให้ความสำคัญกับการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่จะช่วยสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกร   ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA ในอนาคต ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป(อียู) เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น