ปลาป่นไทย ป่วน ! จีน-เวียดนามลดซื้อ ทำราคาตํ่าสุดรอบ 7 ปี

23 มิ.ย. 2562 | 05:55 น.

 

สต๊อกปลาป่นล้นโลก กดราคาภายในของไทยตํ่าสุดรอบ 7 ปี หลังจีน-เวียดนามตลาดนำเข้าใหญ่สุดอันดับ 1 และ 2 ยังเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดหนัก ลดนำเข้าผลิตอาหารสัตว์ กุ้งไทยราคาตกตํ่าทุบซํ้าเกษตรกรลดเลี้ยง ลุยหาตลาดใหม่ช่วยชีวิต เป้าทั้งปี 1.2 แสนตันยังต้องลุ้น

นับตั้งแต่ไทยมีการจัดระเบียบการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ส่งผลให้ปริมาณเรือและปลาสดที่จับได้ลดน้อยลง จากปี 2557 จากที่จับปลาได้กว่า 4.2 ล้านตัน แต่นับจากปี 2558 ที่ไทยถูกใบเหลืองไอยูยู ทำให้ปริมาณปลาที่จับได้ลดลง อย่างไรก็ดีจากเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ไทยสามารถปลดใบเหลืองได้สำเร็จ สถานการณ์จับปลาทะเลของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น

ในส่วนของสถานการณ์อุตสาหกรรมปลาป่น (ซึ่งใช้ปลาเป็ด และปลาเล็กปลาน้อยที่จับจากทะเลมาผลิตป้อนให้โรงงานอาหารสัตว์) ณ ปัจจุบันถือว่าไม่สดใส

นายอำนวย เอื้ออารีมิตร นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมปลาป่นของไทยซึ่งมีตลาดส่งออกหลักที่จีนว่า เวลานี้จีนยังมีสต๊อกจำนวนมากบวกกับสินค้าปลาป่นจากต่างประเทศ ซึ่งรวมสินค้าจากไทยยังตกค้างที่ท่าเทียบเรือของจีนจำนวนมาก เนื่องจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในจีนยังไม่คลี่คลาย ทำให้ยอดการใช้ปลาป่นของจีนเพื่อใช้ผลิตอาหารสัตว์ในปีนี้คาดจะลดลงจากปีที่ผ่านมาไม่ตํ่ากว่า 3 แสนตัน เช่นเดียวกับตลาดเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดรองของไทย ก็ยังมีปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาเช่นเดียวกัน ทำให้สุกรตายครึ่งประเทศ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้ไทยส่งออกปลาป่นได้ลดลง ขณะที่เงินบาทแข็งค่า จากระดับ 32 บาทเป็น 31.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สินค้าไทยราคาสูงขึ้นและแข่งขันยาก

ปลาป่นไทย ป่วน ! จีน-เวียดนามลดซื้อ ทำราคาตํ่าสุดรอบ 7 ปี

                                                      อำนวย เอื้ออารีมิตร

ปลาป่นไทย ป่วน ! จีน-เวียดนามลดซื้อ ทำราคาตํ่าสุดรอบ 7 ปี

“คาดปีนี้วัตถุดิบปลาป่นของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 3.8-3.9 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10-15% ซึ่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นก็ต้องพยายามส่งออกให้มากขึ้นด้วย เพราะตลาดภายในใช้ปลาป่นในการผลิตอาหารสัตว์คงที่ ส่วนหนึ่งจากกุ้งราคาตกตํ่ามากไม่จูงใจเกษตรกรเลี้ยง การซื้ออาหารกุ้งก็ลดลง อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการอาหารสัตว์ก็ต้องการลดต้นทุน หันไปนำเข้าปลาป่นจากเพื่อนบ้านที่ราคาถูกกว่าไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาปลาป่นในประเทศของไทยขณะนี้ตํ่าสุดรอบ 7 ปี โดยราคาปลาป่นขายส่ง โปรตีน 60% ขึ้นไป เบอร์ 1 อยู่ที่ 32 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยสูงสุด 37-38 บาทต่อกิโลกรัม”

สำหรับจีน ซึ่งเป็นตลาดปลาป่นใหญ่สุดของโลกในปีที่ผ่านมามีการนำเข้า 1.2 ล้านตัน ปีนี้ประเมินแล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนตัน ผู้ประกอบการปลาป่นไทยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลค่าเงินให้อยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออกสินค้าไทยได้มาก จากปัจจุบันไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ค่าเงินแข็งค่าเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค”

อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกปลาป่นพยายามหาตลาดใหม่ๆ ชดเชยหรือทดแทนตลาดจีนเพิ่มขึ้น เช่น บังกลาเทศ และศรีลังกา ที่มีการขยายตัวของการเลี้ยงสัตว์ ล่าสุดการส่งออกปลาป่นของไทยช่วง 5 เดือนครึ่งของปีนี้ (ม.ค.-15 มิ.ย.62) ส่งออกปริมาณ 5.6 หมื่นตัน จากเป้าทั้งปีตั้งไว้ที่ 1.2 แสนตัน จากปีที่แล้วส่งออก 1.01 แสนตัน (กราฟิกประกอบ) เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้วหากไทยส่งออกปลาป่นปีนี้ได้ตํ่ากว่า 1 แสนตันเดือดร้อนแน่ เพราะผลผลิตเพิ่มขึ้น จะยิ่งซํ้าเติมราคาในประเทศให้ตํ่าลงอีก

ขณะที่สถานการณ์ปลาป่นต่างประเทศเวลานี้ก็ยังยํ่าแย่ โดยเปรู ผู้ผลิตรายใหญ่ ในครอปแรกของปีนี้ประกาศผลโควตาออกมาอยู่ 2.1 ล้านตัน จับปลาไปแล้วกว่า 80% ของโควตาที่ได้ เหลืออีก 20% ยังมีเวลาจับไปถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ยกเว้นอากาศแปรปรวน ส่วนครอปที่ 2 จะประกาศในเดือนพฤศจิกายนคาดเดายากว่าจะประกาศโควตาจับปลาเท่าไร 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,481 วันที่ 23 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ปลาป่นไทย ป่วน ! จีน-เวียดนามลดซื้อ ทำราคาตํ่าสุดรอบ 7 ปี