เปิดผลประโยชน์ "รฟท. - ซีพี" ไฮสปีด 2.2 แสนล้าน

08 เม.ย. 2562 | 06:30 น.


เอกสารคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ระบุ ผลประโยชน์ตอบแทนการลงทุนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และภาคเอกชนที่ชนะการประมูลได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ ไว้ว่า ในส่วนของ รฟท. ที่จะได้รับประกอบด้วย 1.เงินค่าให้สิทธิร่วมลงทุนใน "แอร์พอร์ต เรลลิงค์" โดยเอกชนคู่สัญญาจะชำระให้ รฟท. 10,671,090,000 บาท ก่อนที่เอกชนคู่สัญญาจะได้รับสิทธิการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของ "แอร์พอร์ต เรลลิงค์"

2.รฟท. จะได้ค่าเช่าที่ดินจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการบริเวณสถานี "แอร์พอร์ต เรลลิงค์ มักกะสัน" และสถานีศรีราชา โดยเอกชนจะชำระให้ รฟท. ตลอดระยะเวลา 50 ปี เป็นจำนวนเงิน 52,336.77 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเช่าพื้นที่ สถานี "แอร์พอร์ต เรลลิงค์ มักกะสัน" เป็นจำนวนเงิน 51,834.08 ล้านบาท และค่าเช่าพื้นที่สถานีศรีราชา เป็นจำนวนเงิน 502.69 ล้านบาท

 

เปิดผลประโยชน์ "รฟท. - ซีพี" ไฮสปีด 2.2 แสนล้าน

 

3.รฟท. จะได้รับผลประโยชน์ของโครงการ ซึ่งประกอบด้วย การดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟ การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกรณีที่รายได้รวมก่อนหักภาษีที่เกิดขึ้นในแต่ละปีสูงกว่ารายได้ที่เอกชนคู่สัญญาเสนอมามากกว่า 30% แต่ไม่เกิน 50% ให้แบ่งรายได้ให้ รฟท. 20% ของส่วนที่เกิน

กรณีที่รายได้รวมก่อนหักภาษีที่เกิดขึ้นในแต่ละปีสูงกว่ารายได้ที่เอกชนคู่สัญญาเสนอมามากกว่า 50% ขึ้นไป ให้แบ่งรายได้ให้ รฟท. 40% ของส่วนที่เกิน


4.รฟท. จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ ในกรณีที่เอกชนคู่สัญญาต้องการเปิดเดินรถและมีรายได้จากค่าโดยสารและการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ก่อนระยะเวลาของโครงการ โดยส่วนแบ่งรายได้ที่ รฟท. จะได้รับข้างต้นขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่าง รฟท. กับเอกชนคู่สัญญา

5.รฟท. ได้รับทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง และ "แอร์พอร์ต เรลลิงค์" ส่วนต่อขยาย ตามรูปแบบ BTO (Build - Transfer - Operate) ก่อนที่เอกชนคู่สัญญาจะได้รับสิทธิในการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ตเรลลิงค์ส่วนต่อขยาย

6.รฟท. ได้รับทรัพย์สินจากส่วนการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ บริเวณสถานี "แอร์พอร์ต เรลลิงค์ มักกะสัน" และสถานีศรีราชา ตามรูปแบบ BOT (Build - Operate - Transfer) หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการ

ส่วนผลประโยชน์ตอบแทนของเอกชนคู่สัญญาจะได้รับเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ กรณีนี้ กลุ่มซีพีเสนอขอวงเงินที่รับการสนับสนุนจากรัฐ 117,227 ล้านบาท ได้รับรายได้จากค่าโดยสารของโครงการเกี่ยวกับรถไฟการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ และในกรณีที่คู่สัญญาประสงค์จะเปิดเดินรถและจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนของ "แอร์พอร์ต เรลลิงค์" ส่วนต่อขยายหรือช่วงอื่น ๆ ของโครงการฯ ก่อนระยะเวลาของโครงการ โดยส่วนแบ่งรายได้ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่าง รฟท. กับเอกชนคู่สัญญา

ในเอกสารยังระบุว่า รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ โดยแบ่งชำระให้แก่เอกชนคู่สัญญาเท่ากันทุกปีต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี และเป็นไปตามเงื่อนไขการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ตามผลการดำเนินงาน เกณฑ์ประเมินผลผลิตที่เอกชนต้องส่งมอบ (Output Specification) และระดับในการบริการ (Level of Service) และระยะทางของการเดินรถ โดยจะเริ่มชำระเงินดังกล่าวภายหลังเอกชนคู่สัญญาเริ่มต้นการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟแล้ว ทั้งนี้ กรณีมีเหตุจำเป็นอาจให้ทยอยจ่ายเงินดังกล่าวให้เอกชนคู่สัญญาหลังจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงบางส่วน โดยแบ่งจ่ายเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ตามระยะทางของการเดินรถไฟความเร็วสูง โดยในกรณีดังกล่าวคณะกรรมการนโยบายจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป

นอกจากนี้ ยังระบุว่า รฟท. จะใช้งบเพื่อการเวนคืนที่ดินเป็นจำนวนเงิน 3,570.290 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ของ รฟท. เป็นจำนวนเงิน 22,558.06 ล้านบาท โดยภาครัฐจะใช้งบประมาณประจำปี หรือ เงินกู้ เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการในส่วนของรัฐ ซึ่งในการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุน ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถเสนอขอรับเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ในจำนวนที่น้อยกว่านี้ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญาร่วมลงทุน โดยกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ตํ่ากว่า 10 ปี เริ่มชำระเงินภายหลังเอกชนคู่สัญญาเริ่มต้นการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ (Operation - Maintenance) และเป็นไปตามเงื่อนไขการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ตามผลการดำเนินงานเกณฑ์ประเมินผลผลิตที่เอกชนต้องส่งมอบ (Output Specification) ระดับในการบริการ (Level of Service) และระยะทางของการเดินรถ


หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3459 ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2562
 

เปิดผลประโยชน์ "รฟท. - ซีพี" ไฮสปีด 2.2 แสนล้าน