“อุดรธานี”ประกาศใช้กฎบัตรไมซ์และเมืองเขียว กระตุ้นจีพีพี2เท่าใน10ปีข้างหน้า

09 มี.ค. 2562 | 07:58 น.

จังหวัดอุดรธานี ผนึกทีเส็บ เทศบาลนครอุดรธานี และสมาคมการผังเมืองไทย ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนประกาศนโยบายยกระดับผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) เป็น 2 เท่าในปี 72 โดยใช้ไมซ์ปละเมืองเขียวเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวในโอกาสเป็นประธานการลงนามกฎบัตรอุดรธานีร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนว่า จังหวัดจะนำนโยบายการพัฒนาของกฎบัตรอุดรธานีจำนวน 6 ข้อที่ต้องดำเนินการให้บรรลุ ได้แก่ การยกระดับการพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางไมซ์และเมืองเขียวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การยกระดับผลิตภัณฑ์จังหวัดให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า การยกระดับการจ้างงานในธุรกิจไมซ์และกลุ่มเศรษฐกิจสีเขียวให้ไม่ต่ำกว่ากรุงเทพมหานคร การลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จาก 22 เท่าลงมาเหลือ 15 เท่า การพัฒนาพื้นที่ชั้นในของเทศบาลนครอุดรธานี เป็นศูนย์กลางไมซ์(MICE Special District) เป็นเมืองแห่งการเดิน โดยมีค่า walk score ไม่น้อยกว่า 80 คะแนน และการลดภาระการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก โดยจะบรรจุเป้าหมายดังกล่าวในแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดอุดรธานี

“อุดรธานี”ประกาศใช้กฎบัตรไมซ์และเมืองเขียว กระตุ้นจีพีพี2เท่าใน10ปีข้างหน้า  โดยการร่วมลงนามในครั้งนี้มีสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เทศบาลนครอุดรธานี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สมาคมการผังเมืองไทย พร้อมด้วยเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานอุดรธานี สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี สำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เครือข่ายมาดีอีสาน และเครือข่ายอุดร 2029 โดยใช้กิจการไมซ์และเมืองเขียวเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนา 

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ในการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า กฎบัตรได้กำหนดสาขาการพัฒนาจำนวน 10 สาขาเพื่อเป็นแผนปฏิบัติการพัฒนาให้บรรลุตามนโยบายและเป้าหมายอุดรธานีเมืองไมซ์และเมืองเขียว

โดยสาขาการพัฒนาประกอบด้วย สาขาไมซ์ (MICE) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่อยู่อาศัยและที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกระดับรายได้ (Housing & Affordable Housing)  คมนาคมขนส่งสีเขียว (Green Transportation) พลังงานสีเขียว (Green Energy) เกษตร อาหารปลอดภัย และเครือข่ายอาหารท้องถิ่น (Agriculture, Green & Safety Food, Food and Local Food Stuffs) อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Economy) สวนสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สีเขียว (Park, Public Space and Green Space) โครงสร้างพื้นฐานเขียว (Green Infrastructure)  และสาขาการปรับปรุงฟื้นฟูเมือง (Urban Revitalization)


“ทั้ง 10 สาขาจะมีคณะทำงานที่มาจากผู้ประกอบการในพื้นที่ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ และนักวิจัยของโครงการ SG-ABC เข้าร่วมศึกษาและดำเนินการ ซึ่งหลังจากการลงนามเบื้องต้นแล้ว คณะทำงานจะเริ่มประชุมยกร่างแผนปฏิบัติการอุดรธานี 2572 หรือ Udonthani MICE & Greenest City Action Plan 2029 ต่อไป”

“อุดรธานี”ประกาศใช้กฎบัตรไมซ์และเมืองเขียว กระตุ้นจีพีพี2เท่าใน10ปีข้างหน้า

ด้าน พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด ในฐานะประธานคณะกรรมการยกร่างกฎบัตรอุดรธานี กล่าวว่า กฎบัตรอุดรธานีมีเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งจะใช้ไมซ์เป็นกลไกกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในการลงนามข้อตกลงร่วมมือเบื้องต้นนั้น ผู้บริหารของศูนย์การประชุมนานาชาติมณฑาทิพย์ฮอลล์ได้ยืนยันกับคณะกรรมการว่า ภายใน 5 ปีจะสามารถก่อสร้างขยายศูนย์การประชุมได้สองเท่า หรือสามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติ (Convention) ได้มากถึง 3 หมื่นคน

เช่นเดียวกับศูนย์การประชุมของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าอุดรธานีซึ่งจะสามารถขยายพื้นที่รองรับได้มากถึง 1.5 หมื่นคน และกลุ่มโรงแรมเจริญโฮเทลจะก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการซึ่งรองรับได้อีก 5,000 คน

“อุดรธานี”ประกาศใช้กฎบัตรไมซ์และเมืองเขียว กระตุ้นจีพีพี2เท่าใน10ปีข้างหน้า

“ดังนั้นภายใน 5 ปีนับจากนี้อุดรธานีจะมีความสามารถรองการประชุมได้สูงถึง 5 หมื่นคน ไม่นับรวมศูนย์การประชุมของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีและห้องประชุมของโรงแรมต่างๆ ที่คาดว่าจะรองรับได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน”


ในส่วนความสามารถการรองรับของโรงแรมนั้น ในช่วงของการระดมความเห็นของสาขาการโรงแรม คณะทำงานในสาขาซึ่งทั้งหมดเป็นเจ้าของและผู้ประกอบการโรงแรม ได้มีความเห็นตรงกันในการจัดตั้งสมาคมโรงแรมจังหวัดอุดรธานีเพื่อเป็นอีกกลไกในการขับเตลื่อนการลงทุนขยายจำนวนห้องพักให้สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายจากไมซ์ได้ เช่นเดียวกับสาขาการพัฒนาการเกษตร อาหารปลอดภัย และเครือข่ายกิจการอาหาร  ซึ่งเป็นผู้แทนจากกลุ่มอุดรธานีสมาร์ซฟาร์ม (Udonthani young smart farm) ที่ได้มติยืนยันสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยและเพิ่มช่องทางการตลาดประสานกับกลุ่มโรงแรมและศูนย์การประชุม เพื่อตอบสนองภารกิจการขยายตัวของไมซ์ในจังหวัดอุดรธานีให้ได้


ด้านนายอิทธิพล ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า เทศบาลมีความพร้อมในการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ชั้นในของเทศบาลนครให้เป็นเมืองแห่งการเดิน(Udonthani walkable city) และปรับปรุงพื้นที่ย่านยูดีทาวน์และถนนประจักษ์ศิลปาคมให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของไมซ์ โดยในงบประมาณปี 2563 เทศบาลได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนำสายไฟฟ้าลงดิน และได้จัดเตรียมงบประมาณไว้ 30 ล้านบาทเพื่อการปรับปรุงทางเดินบริเวณถนนประจักษ์ศิลปาคมและถนนทองใหญ่ให้ได้มาตรฐาน

“อุดรธานี”ประกาศใช้กฎบัตรไมซ์และเมืองเขียว กระตุ้นจีพีพี2เท่าใน10ปีข้างหน้า