เบร็กซิทไม่กระทบแผนจ้างงาน นักวิเคราะห์เตือนจับตาระยะยาว

16 ก.ย. 2559 | 15:00 น.
การจ้างงานของอังกฤษไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงหลังจากเบร็กซิท แต่ผลสำรวจล่าสุดพบว่านายจ้างในหลายภาคส่วนส่งสัญญาณความกังวลต่อสถานการณ์ในอนาคต

บริษัทจัดหางาน แมนพาวเวอร์ กล่าวว่า แนวโน้มการจ้างงานของบริษัทต่างๆ ในอังกฤษหลังจากการทำประชามติ "เบร็กซิท" ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าแนวโน้มการปลดพนักงานเล็กน้อย โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานของอังกฤษสามารถรับมือกับผลการทำประชามติได้ดีกว่าที่คาด หลังจากมีหลายฝ่ายคาดหมายว่าผลลงมติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) จะจุดชนวนให้แผนการจ้างงานของบริษัทต่างๆ หยุดชะงักลง

อย่างไรก็ตาม แมนพาวเวอร์กล่าวว่า ตลาดแรงงานของอังกฤษอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยง โดยมีสัญญาณของความกังวลเกิดขึ้นในหลายภาคส่วน "หลังจากความตื่นตระหนกในช่วงแรก เรากำลังก้าวเข้าสู่ขั้นตอนของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระยะยาว อนาคตของการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างอิสระทั่วอียูเป็นข้อกังวลที่สำคัญ" มาร์ค เคฮิลล์ กรรมการผู้จัดการของแมนพาวเวอร์กล่าว

ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของนายจ้างกว่า 2,100 รายในอังกฤษ แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่ทำธุรกิจและผู้ให้บริการด้านการเงิน ก่อสร้างและสาธารณูปโภค ตลอดจนภาคการผลิต มีความเชื่อมั่นลดน้อยลงจากก่อนการทำประชามติ โดยนายจ้างในหลายอุตสาหกรรมกล่าวแสดงความกังวลว่า พนักงานหลักๆ จะได้รับผลกระทบจากการถูกห้ามไม่ให้แรงงานของอียูอยู่ในประเทศอังกฤษต่อไป

"เนื่องจากธุรกิจในอังกฤษพึ่งพาแรงงานที่มีความสามารถจากอียูเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการรักษาสิทธิในการเคลื่อนย้ายแรงงานจากอียูอย่างอิสระในระหว่างการเจรจา" เคฮิลล์กล่าว

ด้านสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้งส์ กล่าวว่า ในขณะที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่าอังกฤษหลุดพ้นจากผลกระทบของการทำประชามติแล้ว แต่แนวโน้มในระยะยาวยังคงไม่สดใส "ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของอังกฤษนอกอียู และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งเราคิดว่ามีแนวโน้มไปทางลบนั้น จะค่อยๆ ส่งผลกระทบให้เห็น โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุน" โซฟี ทาฮิรี นักเศรษฐศาสตร์ของเอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้งส์ ให้ความเห็น

ข้อมูลเศรษฐกิจหลายๆ ตัวในช่วงที่ผ่านมาต่างแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจอังกฤษรับมือกับผลการทำประชามติออกจากการเป็นสมาชิกอียูได้เป็นอย่างดี การส่งออกของอังกฤษไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่การส่งออกไปอียูเพิ่มขึ้น 9.1% จากอานิสงส์ของการอ่อนค่าของเงินปอนด์

การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังเติบโตได้ และผลสำรวจแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมของภาคการผลิตและบริการเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม หลังจากลดลงในเดือนกรกฎาคมหลังจากการทำประชามติ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จากเอสแอนด์พีเตือนว่า การจะกล่าวว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวจากการทำประชามติแล้วนั้นอาจเป็นคำกล่าวที่เร็วเกินไป หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นภาพลวงตา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,192 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2559