โลเคิล อไลค์บูมดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งดึงต่างชาติ

19 ส.ค. 2559 | 09:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"โลเคิล อไลค์"รุกยกเครื่องเว็บไซต์ บูมดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง มุ่งขยายฐานลูกค้าต่างชาติเที่ยวชุมชนในไทย หลังได้งบสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพ จากสวทช. คาดตลอดทั้งปีนี้ยอดลูกค้าทะลุ 3 พันคน พร้อมต่อยอดธุรกิจด้วยการรับศึกษาโครงการด้านซีเอสอาร์ ขององค์กรต่างๆ ใช้เป็นคู่มือจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือสังคม

นางสาวสุรัชนา ภวลีธร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโลเคิล อไลค์ จำกัด (ธุรกิจในกลุ่มสตาร์ตอัพ) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในขณะนี้โลเคิล อไลค์ ( Local Alike) อยู่ระหว่างพัฒนาเว็บไซต์ โดยจะเพิ่มศักยภาพในการทำตลาดขึ้นอีกระดับหนึ่ง เน้นเรื่องของดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง ทำให้ www.localalike.com มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น เพื่อขยายการเข้าถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ การทำตลาดแบบบีทูซี ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้รับงบประมาณ ในการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพของรัฐบาล ภายใต้โครงการสตาร์ท อัพ วอชเชอร์ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วงเงินราว 1 ล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้เว็บไซต์ดังกล่าว ได้จัดทำขึ้นโดยการสนับสนุนงบราว 5 แสนบาท จากกองทุนส่งเสริมนวัตกรรม ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.)

การทำตลาดแบบบีทูซี จะทำให้บริษัทสามารถเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป ที่สนใจเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต่างๆของไทยได้เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งมองว่ามีโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้าได้อีกมาก นอกเหนือฐานลูกค้าหลักของบริษัท ที่ส่วนใหญ่หรือกว่า 70-80% มาจากการทำตลาดแบบบีทูบี ที่เน้นองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ในไทย ที่ต้องการให้บริษัทเข้ามาเรื่องของการจัดกิจกรรมด้านซีเอสอาร์ ในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต่างๆที่บริษัทได้เข้าไปร่วมพัฒนา เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชนต่างๆร่วม 40 ชุมชน เนื่องจากปัจจุบันองค์กรต่างๆต้องการทำซีเอสอาร์ ที่เป็นการช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ให้สังคมจริงๆ

" จากการดำเนินธุรกิจมาราว 3 ปี พบว่า มีการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ซึ่งปีแรกๆบริษัทมีลูกค้าอยู่ที่ราว 800-900 คน ในปีที่ผ่านมา มีลูกค้า 1,800 คน ที่มาจากออนไลน์และออฟไลน์ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทย และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราวไม่เกิน 70 คน และปีนี้ คาดว่าจะมีลูกค้าราว 3,000 คน เนื่องจากต้นแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 1,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นการบอกต่อ รวมถึงรับทราบการให้บริการของบริษัท ผ่านโครงการประกวดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสตาร์ตอัพ ทั้งในและต่างประเทศที่บริษัท ได้รับรางวัลมา อาทิ โครงการของสิงคโปร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟาวเดชั่น,โครงการของธนาคารดีบีเอส, โครงการสตาร์ตอัพ ที่เอไอเอส สนับสนุน"

ทั้งนี้โมเดลการทำธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเน้นการเข้าไปร่วมมือกับชุมชนในการเข้าไปให้ความรู้ในการพัฒนา มุ่งเน้นการสื่อสารเพื่อนำนักท่องเที่ยวเข้าไปหาชุมชน Local Alike ไม่ใช่บริษัทนำเที่ยวที่มีไกด์ของตัวเองนำนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชุมชน เพราะคนที่จะเป็นไกด์และดูแลการบริหารจัดการในชุมชน จะเป็นการทำงานของคนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ บริษัทจะเป็นตัวการในการสร้างตลาดควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชน

นอกจากนี้บริษัทมีการต่อยอดการดำเนินธุรกิจเพิ่มเติมอีกในหลายโมเดลที่เกี่ยวกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำโครงการให้แก่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรืออพท. ในการจัดทำกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อมใน 6 พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่จะทำเป็นลิซแนะนำกิจกรรมที่องค์กรต่างๆควรจะไปทำเรื่องซีเอสอาร์ หรือแม้แต่การมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการวิลเลจ ทู เดอะเวิล์ด ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือททท. ที่จะนำซีอีโอของภาครัฐและเอกชน เดินทางไปทำกิจกรรมซีเอสอาร์ในชุมชนต่างๆเป็นต้น ซึ่งไม่ว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไปจะมีหลายโมเดล แต่เป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจของ Local Alike ยังเน้นการเป็นส่วนหนึ่งในการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน เพราะเป็นหัวใจที่บริษัทจะเติบโตไปพร้อมๆกันอย่างยั่งยืนเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559