เศรษฐกิจไทยติดหล่มออมมากเกิน ชี้สภาพคล่องส่วนเกินล้นเหตุปล่อยสินเชื่อฝืด

23 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินเศรษฐกิจฟื้นรูปตัวแอลลากยาว จี้ปรับโครงสร้างการผลิตเข้าสู่โกลบอลซัพพลายเชน ต่อยอดการค้ากลุ่มประเทศCLMV ช่วยดึงจีดีพีแทนพึ่งพาลงทุนภาครัฐ-การส่งออก ชี้สภาพคล่องส่วนเกินล้น แค่ปัญหาการส่งผ่านสินเชื่อฝืด ลั่นระบบแบงก์ยังรักษาส่วนต่างดอกเบี้ย 3%

สืบเนื่องจากดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในหัวข้อ "What NEXT? เศรษฐกิจตกต่ำ...หุบเหวนี้ลึกและกว้างเพียงใด" บนหลักสูตร The NEXT Real หลักสูตรสร้างนักอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ โดยระบุว่า ภาวะประเทศไทยตอนนี้ตรงกับทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่าภาวะสถาบันการเงินเป็นกับดักสภาพคล่อง คนเอาเงินฝากเยอะแต่ไม่อยากใช้จ่าย ไม่มีคนกู้ ธนาคารเองก็ไม่ปล่อยกู้ หากปล่อยนานไปธนาคารพาณิชย์จะขาดทุนถ้ารัฐบาลไม่ออกพันธบัตรมาช่วย สิ่งที่ทำได้ คือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรลดดอกเบี้ยมาตรฐานลง แต่หากลดจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีรายได้ลดลง ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีเงินส่วนเกินที่ฝาก ธปท.เพื่อกินดอกเบี้ยอยู่ 8 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท "จากประสบการณ์ คาดว่าสถานการณ์เช่นนี้จะอยู่ยาว และสถานการณ์นี้จะอยู่ยาวและมองว่าเป็นตัวแอลพื้นไม่เรียบและยังมองไม่เห็นพื้นราบจะกระดกขึ้นได้ตอนไหน อย่างไรก็ดีขณะนี้เศรษฐกิจถึงพื้นแล้วแต่ไม่หนักเหมือนช่วงต้มยำกุ้งแต่จะยืดเยื้อนานกว่านั้น"

[caption id="attachment_64694" align="aligncenter" width="369"] สมชัย สัจจพงษ์  ปลัดกระทรวงการคลัง สมชัย สัจจพงษ์
ปลัดกระทรวงการคลัง[/caption]

ต่อประเด็นดังกล่าว นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวยืนยันว่า ถ้าย้อนดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดมาตั้งแต่ปี 2557 เห็นได้จากเศรษฐกิจเติบโตได้แค่ 0.8% ในปี 2558 เริ่มดีขึ้นโดยเติบโตได้ที่ 2.8% และปีนี้คาดว่าจะโตที่ระดับ 3.3% ถ้ามองจากตัวเลขจะเห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในรูปตัวU (ยู) คือกำลังค่อยๆ ผงกหัวขึ้น

"ที่ผ่านมาผมพูดทุกเวทีว่า เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วจริงๆ ไม่ได้วัดจากความรู้สึก ซึ่งเป็นการวัดจากตัวเลข ช่วง 6 เดือนที่กระทรวงการคลังทำงานหนักมาก เพื่อออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจ และมีความหวังว่ามาตรการที่ทำจะต้องเกิดผล และรู้สึกดีใจที่มาตรการที่ออกไปเริ่มเกิดผลจนไตรมาสที่ 1/2559 สามารถดันเศรษฐกิจไทยโตได้ 3.2% สูงสุดในรอบ 12 ไตรมาสที่ผ่านมา"

สอดรับกบนายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่วูบวาบ โดยลักษณะการฟื้นตัวจะเป็นแบบรูปตัวแอล (L) ที่หางจะลากยาว แต่ถึงจุดต่ำสุดแล้ว คงไม่เห็นเศรษฐกิจลงลึกกว่านี้แน่นอน

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวหรือหางของตัวแอลจะลากยาวไปถึงขนาดไหน จะขึ้นอยู่กับไทยสามารถก้าวผ่านการผลิตแบบเดิมได้หรือไม่ เพราะหากเศรษฐกิจโลกกลับมาดีขึ้น ไทยเปิดกำลังการผลิตส่วนที่เหลืออีก 40% แต่กำลังการผลิตที่เปิดขึ้นจะทันความต้องการโลกหรือไม่ เพราะไทยยังไม่มีโปรดักต์แชมป์เปี้ยน ซึ่งการแก้ปัญหาจะต้องวางตำแหน่งการผลิตของไทยให้อยู่ในโกลบอลซัพพลายเชนให้ได้

"ดังนั้นต้องมอง CLMV เป็นปัจจัยการผลิต และการลงทุนที่เกิดเอฟดีไอด้วย การลงทุนรถไฟ ควรมองรวมถึงการค้าไม่ใช่เฉพาะแค่การขนส่งความเร็วสูง ซึ่งจะทำให้ส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจได้ ไม่ใช่แค่ส่งออกที่ไม่เป็นระบบเพราะระยะข้างหน้าสัดส่วนการส่งออกจะล้นตลาด"

ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาพคล่องที่อยู่ในระบบกว่า 11.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในรูปของเงินสด พันธบัตร และในตลาดซื้อคืน(Repo) สัดส่วนประมาณ 31.7% และสัดส่วนประมาณ 12% หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และที่เหลืออีก 58% จะอยู่ในตลาดพันธบัตร กองทุน และประกัน โดยกำลังเผชิญปัญหา Over Saving เพราะมีการออมเยอะมากกว่าการลงทุนจริง โดยมีสัดส่วนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรกจำนวน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีก่อนทั้งปีอยู่ที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัญหาตอนนี้ คือ การส่งผ่านสภาพคล่องของธนาคารไปสู่การปล่อยสินเชื่อในระบบทำได้ค่อนข้างช้า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำ แต่ไทยคงไปไม่ถึงจุดกับดักสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์คงไม่อยากนำสภาพคล่องไปไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะว่าธนาคารมีต้นทุนเงินฝากที่จะเกิดขึ้นเฉลี่ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากธปท.เฉลี่ยที่ระดับ 1.5% แต่จะเห็นว่าแม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 1.5% หรือสูงเหมือนในอดีตที่ 3.5% จะพบว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังรักษาอัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ไว้ที่ระดับเคียง 3% ได้ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคารให้ปรับลดลงจากการนำไปฝากไว้ที่ธปท.

"เข้าใจว่าตัวเลข 8 แสนล้านบาทถึง1 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขสภาพคล่องที่อยู่ในตลาดริโป้ของธปท.ซึ่งยอมรับว่าตอนนี้มีมากกว่าปกติจริง แต่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าแบงก์ก็คงไม่อยากเอาเงินสภาพคล่องไปแปะไว้ที่ธปท. เนื่องจากมีต้นทุนเงินฝากสูงกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับจากธปท. แต่จะเห็นว่าส่วนใหญ่แบงก์รับรักษาอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย(NIM)ได้ที่ระดับใกล้เคียง 3%จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อกกำไรของแบงก์ให้ปรับลดลงจากการนำไปฝากไว้ที่ธปท."

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559