เดินหน้า “เมืองแห่งการเรียนรู้” ส่งเสริม "ความเสมอภาคทางการศึกษา"

24 มิ.ย. 2564 | 03:00 น.

กสศ. ร่วมกับสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ และภาคีเครือข่าย ชวนท้องถิ่นเดินหน้าสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการจัดประชุมพัฒนาโจทย์การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting)

โดยมี น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษา สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกเทศมนตรีและผู้แทนจากสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำงานระดับพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ได้ร่วมแลกเปลี่ยนโดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่าแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ส่งเสริมการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การยูเนสโก ในปัจจุบัน การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการศึกษาในระบบแต่การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning  

โดยเมืองซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และศึกษา มีส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองนั้นๆ แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ (learning city) สนับสนุนให้เมืองเป็นแกนนำร่วมกับภาคส่วนต่างๆ สร้างและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมทุกมิติ เนื่องจากการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน

เดินหน้า “เมืองแห่งการเรียนรู้” ส่งเสริม "ความเสมอภาคทางการศึกษา"

การพัฒนาเมืองภายใต้กรอบแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นที่ยอมรับและเห็นผลจริงในวงกว้าง โดยทั่วโลกมีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (Global Network of Learning Cities: GNLC) มากกว่า 229 เมืองจาก 64 ประเทศ โดยประเทศไทยมีเมืองที่เป็น GNLC 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ การเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่เมืองและประเทศ ที่สำคัญกว่านั้น ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรและเมืองทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

คุณสมบัติเบื้องต้นของการเป็น GNLC คือ เป็นเมืองที่มีประชากร 10,000 คน ขึ้นไป และผู้บริหารจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองที่ชัดเจน ตามบริบทและสภาพปัญหาของพื้นที่ เมืองที่สนใจสมัครเป็นเครือข่าย GNLC จะเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 1 ก.ย. – 1 พ.ย. 2564 ผ่านทางสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสามารถติดตามข่าวสารการสมัครได้ที่ https://uil.unesco.org/lifelong-learning/learning-cities/become-member

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญเพราะมนุษย์ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลาเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง การสนับสนุนให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นกรอบการทำงานที่ท้องถิ่นมีอำนาจและสามารถทำได้ ทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย  ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาในระบบ

การลดจำนวนและปัญหาเด็กนอกระบบ การส่งเสริมศึกษาตามอัธยาศัย การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการส่งเสริมสร้างนิสัยให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้แต่ละคนมีทักษะที่หลากหลายให้อยู่รอดในอนาคต โดยยกตัวอย่างการทำงานของ เทศบาลนครยะลาซึ่งมีการสร้างศูนย์เรียนรู้ซึ่งยะลามี TK park  แห่งแรกในภูมิภาค นอกจากนี้ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เดินหน้า “เมืองแห่งการเรียนรู้” ส่งเสริม "ความเสมอภาคทางการศึกษา"

นอกจากนี้ สมาคมสันนิบาตฯ ส่งเสริมการเรียนรู้ โดยตั้งหน่วยงานด้านวิชาการและการวิจัยขึ้นมาทำงานเรื่องการเรียนรู้เป็นการเฉพาะ ซึ่งพร้อมที่จะทำงานพัฒนาการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยท้องถิ่นมีหน้าที่และจำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษาโดยเฉพาะกับกลุ่มเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบางในสังคมให้มีโอกาสทางการศึกษา การเรียนรู้และการพัฒนาทักษะเช่นเดียวกับกลุ่มคนทั่วไป ทั้งนี้ อาจทำโดยการให้ทุนการศึกษาเด็ก การค้นหาและสนับสนุนศักยภาพตามความถนัดของเด็กพร้อมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการสร้างทักษะการเรียนรู้

นายกลยุทธ์ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา  กล่าวว่า เมืองฉะเชิงเทราได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็นเมืองสวยงามน่าอยู่  ซึ่งทำงานครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านสาธารณสุข  สิ่งแวดล้อม การพัฒนาคน การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการศึกษา โดยเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้ที่อยากศึกษาหาความรู้ ทุกเพศ ทุกวัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวฉะเชิงเทราได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างเสมอภาค ในฐานะที่เป็นเครือข่าย GNLC ประเทศไทย เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรามีแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นผ่านการจัดนิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการรับรู้ และสร้างความตื่นตัวให้คนในพื้นที่

นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส  นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมานครภูเก็ตได้ทำงานเรื่องการศึกษามาอย่างต่อเนื่องทั้งสนับสนุนเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้ได้เรียนตามความต้องการ มีนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาค้นหาช่วยเหลือนักเรียนที่ออกกลางคันให้กลับเข้าเรียนได้ตามปกติ พร้อมสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อการศึกษา เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ สนับสนุนการฝึกอาชีพ การสร้างทักษะพิเศษให้เด็กที่สนใจ เช่น ว่ายน้ำ คอมพิวเตอร์ ดนตรี ภาษา  ดูแลทั้งเด็กหน้าห้องให้พัฒนายิ่งขึ้นและเพิ่มความสนใจเด็กหลังห้อง โดยร่วมมือทั้งส่วนภูมิภาค จังหวัด สถาบันการศึกษา เครือข่ายต่างประเทศ และภาคธรุกิจ  

เดินหน้า “เมืองแห่งการเรียนรู้” ส่งเสริม "ความเสมอภาคทางการศึกษา"

น.ส.ดลนภา พัฒนาศักดิ์ ตัวแทนสำนักการศึกษา เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงใหม่จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ปฐมวัย การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาตลอดชีวิต ห้องสมุด คอมพิวเตอร์ให้สืบค้นข้อมูล สำหรับประชาชนที่มีทุนทรัพย์น้อย  ไปจนถึงการส่งเสริมการประกอบอาชีพ ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น เพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ดร.ปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า จากที่ได้ทำงานในฐานะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้มาจะครบสองปี ทำให้สามารถเห็นทิศทางการทำงาน จัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับการทำงานของเครือข่ายและเพิ่มเติมต่อยอดการจัดการศึกษาตลอดชีวิต  ซึ่งนครเชียงรายมีการจัดการศึกษาและสร้างโอกาสการเข้าถึงทุกระดับชั้น มีมหาวิทยาลัยวัยที่ 3 เป็นมหาวิทยาลัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้ร่วมทำกิจกรรม เรียนรู้เทคโนโลยี ไปจนถึงภาษาที่สอง ภาษาที่สาม  

ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของ SDG และเมืองแห่งการเรียนรู้ว่า การพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับ SDG ทั้ง 17 ข้อ เนื่องจากความยากจน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษน์ทุกมิติล้วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นการสนับสนุนให้เมืองหรือพื้นที่มีโอกาสในการสร้างการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง

ซึ่งมีตัวอย่างการพัฒนาทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย โดยแต่ละเมืองของประเทศไทยต่างมีต้นทุนทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้และการตอบเป้าหมาย SDG ได้ ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ควรมีการทำงานร่วมกับภาคส่วนวิชาการหรือมหาวิทยาลัยในพื้นที่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาควิชาการและภาคนโยบาย อีกทั้งเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากต้นทุนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวเสริมว่า ความเสมอภาคทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นทั้งความท้าทาย และเป็นโอกาสในการทำให้ SDG ทั้ง 17 เป้าหมายสามารถบรรลุได้ เนื่องจากการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความเชื่อมโยงและเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเสมอภาคทางสังคมแทบทุกด้าน

ดังนั้น กสศ.จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการผลักดันเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2563 กสศ. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและภาคีเครือข่ายในและต่างประเทศจัดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาจอมเทียน หนึ่งในข้อสรุปของการประชุมคือ การศึกษาเพื่อปวงชนจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกันเพื่อการศึกษา หรือ All for Education โดยชุมชนท้องถิ่นถือเป็นจุดจัดการสำคัญที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง

เพราะเมืองเป็นการย่อโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับประเทศลงมา ในขนาดพอเหมาะที่ท้องถิ่นจะทำได้ อีกทั้ง แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นกลไกสำคัญ (Game changer) ที่จะทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาสามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ในระยะเวลาอันสั้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

กสศ. และหน่วยงานภาคีมีข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ และมีเครื่องมือเชิงนวัตกรรมซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนเทศบาล หรือ ท้องถิ่นที่สนใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย GNLC โดยการเป็นเมืองรางวัลเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อาจไม่ใช่เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาเมือง แต่ “กระบวนการ” พัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่เป้าหมายเมืองแห่งการเรียนรู้ของโลกคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้าร่วมเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การ UNESCO นี้ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการสร้างโอกาสที่เสมอภาคในการมีคุณภาพชีวิต การศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนคุณภาพของเมืองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป