“ยุทธพงศ์” ค้าน กู้เงิน5แสนล้าน เปรียบตีเช็คเปล่าให้"บิ๊กตู่"

09 มิ.ย. 2564 | 06:35 น.

“ยุทธพงศ์” ค้าน “พ.ร.ก.กู้เงิน5แสนล้าน”เปรียบตีเช็คเปล่าให้นายกฯไปใช้จ่าย แนะปรับเป็นกฎหมายงบฯกลางปีหวังให้สภาฯตรวจสอบ

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 ที่รัฐสภา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ว่า  กฎหมายดังกล่าวคล้ายกับตีเช็คเปล่า เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำเงินไปใช้จ่าย โดยไม่มีรายละเอียด แม้จะมีแผนการใช้เงิน  แต่เมื่อเทียบกับการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1ล้านบาท เมื่อปี 2563 พบความล้มเหลว แม้มีเงินกู้ แต่ไม่สามารถบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ได้  และทำให้ผู้ติดเชื้อต้องเสียชีวิต ซึ่งการเสนอขอเงินกู้ จาก พ.ร.ก.รอบที่ผ่านมา อ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วน แต่กลับพบว่าการใช้ไม่มีประสิทธิภาพ

นายยุทธพงศ์​ อภิปรายด้วยว่า ปี 2563 พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท  จัดสรรให้กับ ระบบสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท และปี 2564 พบการเบิกจ่ายไปเพียง 26% หรือ 1.1หมื่นล้านบาทเท่านั้น และกรณีที่ระบุว่านำเงินเพื่อเป็นเบี้ยเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า แต่กลับพบว่า มีอสม. ขอเงินนักการเมือง เช่น จ.นครพนม พบว่านายศุภชัย โพธิสุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย และรองประธานสภาฯ คนที่สอง ต้องนำเงินส่วนตัว 7 ล้านบาท เพื่อซื้อประกันภัย, ด้านเยียวยา 7 แสนล้านบาท  เบิกจ่าย 6 แสนล้านบาท , การฟื้นฟูเศรษฐกิจแลสังคม วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท แต่พบการเบิกจ่ายเพียง 28%  ดังนั้นเมื่อรวมยอดการเบิกจ่ายจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท พบว่าเบิกจ่าย รวม 7.7 แสนล้านบาท มียอดเบิกจ่ายเหลือ 2.3 ล้านบาท 
 

“ผมขอให้รัฐบาล เปลี่ยนจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ไปเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณกลางปี 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาทแทน เพื่อให้สภาฯตรวจสอบและเกิดความคุ้มค่ากับการกู้เงินที่ต้องเสียดอกเบี้ย เพราะผมมองว่า พ.ร.ก. ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และการติดเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดตั้งแต่ต้นปี 2563 ไม่มีทางยุติลงภายในปีนี้  และผมเชื่อด้วยว่า รัฐบาลจะใช้เงินกู้ไม่ทันปีงบประมาณแน่นอน” นายยุทธพงศ์ อภิปราย

นายยุทธพงศ์ อภิปราย ด้วยว่ามติครม. อนุมัติงบกลางฯ กว่า  426.47 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องจักรกล รองรับปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง คือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เร็วขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิกส์ ซึ่งตนมองว่า รัฐบาลใช้งบกลางโดยไม่จำเป็น  ทั้งที่ควรนำไปใช้ซื้อวัคซีน ขณะเดียวกันกลับใช้เงินกู้ เพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นตนไม่สามารถรับหลักการดังกล่าวได้

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุน พ.ร.ก.กู้เงินและชื่นชมการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ต่อการตัดสินใจกู้เงินเพื่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองคัดค้าน ตนเชื่อว่า หากรัฐบาลช่วยเหลือประชาชนได้มาก จะทำให้พรรคการเมืองเสียประโยชน์ ดังนั้นไม่ควรใช้กรณีดังกล่าวมาเล่นการเมือง และหากจะออกเป็นพ.ร.บ.งบฯ จะล่าช้า เพราะต้องรอการอนุมัติใช้ ช่วงปลายปี