เลขาอย.-โฆษกรัฐบาล ตอกหน้าหงาย ACCAP ไม่ใช่บริษัทนำเข้ายา-วัคซีนโควิด "ซิโนฟาร์ม"

27 พ.ค. 2564 | 15:06 น.

เลขาฯ อย. และ โฆษกรัฐบาล ประสานเสียง ยืนยันไม่มีชื่อ "บริษัท ACCAP หรือ แอคแคป แอสเซ็ทส์" ยื่นขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ระบุตัวจริงบริษัทไบโอเจเนเทค เป็นผู้ขออนุญาต กก.เตรียมพิจารณา 28 พ.ค.นี้

ช่วงค่ำ วันที่ 27 พ.ค.64 มีความชัดเจนแล้ว จากกรณีที่โซเชียลมีเดียร์ มีการแชร์จดหมายของบริษัท ACCAP หรือ แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ซึ่งอ้างว่า เป็นตัวแทนของ TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีนโควิด ซิโนฟาร์ม ในภูมิภาคเอเชีย 

ซึ่งก่อนหน้านี้ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว และต่อจากนั้นในฟากฝั่งของรัฐบาลทั้ง เลขาธิการ อย. และโฆษกรัฐบาล ก็ออกมาชี้แจงยืนยันด้วยเช่นกัน 

เริ่มจาก เวลา 20.00 น. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงถึงกรณีมีการเผยแพร่เอกสาร ว่าบริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด (ACCAP ASSETS) ระบุว่ามีวัคซีนของซิโนฟาร์ม 20 ล้านโดส เสนอให้รัฐบาลไทยแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข แต่ไม่ให้เข้าพบจึงได้ไปเสนอขายให้กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า  จากการตรวจสอบ 

1. บริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าด้านยา 

และ 2.บริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีน ป้องกันโควิด-19 ของซิโนฟาร์ม แต่บริษัทที่มาขอขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีนฟาร์มคือบริษัท ไบโอเจนเนเทค จำกัด

"ดังนั้นการที่บริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ออกมาบอกว่ามีวัคซีนนั้น ผมไม่แน่ใจเป็นอย่างไร แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะมาบอกว่ามีวัคซีนของชิโนฟาร์ม เพราะการนำเข้าจะต้องมาขออนุญาตขึ้นทะเบียนนำเข้าจากอย.ก่อน สำหรับบริษัทไบโอเจนเนเทค จำกัด ที่ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์มนั้น เป็นการยื่นเอกสารครบในครั้งเดียวซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของอยจะมีการพิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ซึ่งวัคซีนก็เป็นชนิดที่เพิ่งได้รับการรับรองให้ใช้กรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก" เลขาฯ อย. กล่าว

จากนั้นเวลา 21.48 น. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงด้วยว่า ตามที่มีข่าวเรื่องการเสนอขายวัคซีน Sinopharm จำนวน 20 ล้านโดสให้รัฐบาลไทย โดยบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด นั้น ขอชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ปรากฏว่า บริษัทฯดังกล่าวไม่สามารถนำเข้ายาเข้ามาในประเทศไทยได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 

และด้วยเหตุที่บริษัทฯดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ายามาในประเทศไทย ดังนั้นบริษัทฯดังกล่าวจึงมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนและไม่สามารถยื่นขออนุณาตในการขึ้นทะเบียนกับ อย. อีกเช่นกัน นอกจากนี้บริษัทฯดังกล่าวไม่เคยมีประวัติการนำเข้ายา หรือขอรับการขึ้นทะเบียนกับ อย. มาก่อนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ วัคซีน Sinopharm ได้มีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้ก่อนแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียนอยู่ และอยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากกรมธุรกิจการค้า พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มิใช่ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์แต่อย่างใด ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบงบการเงินและแหล่งที่มาของรายได้ของบริษัทฯดังกล่าวต่อไปเพื่อความชัดเจน

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทฯดังกล่าวไม่เคยติดต่อเพื่อขอเข้าพบตัวแทนรัฐบาลแต่อย่างใด อีกทั้งการเจรจาติดต่อเรื่องการนำเข้าวัคซีนสามารถติดต่อผ่านทางองค์การเภสัชกรรม หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้โดยตรงในเบื้องต้น โดยไม่มีความจำเป็นต้องพบนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีตามที่อ้างแต่อย่างใด