‘ลุงตู่’ กู้สิบทิศ 7ปี 5.5 ล้านล้าน

26 พ.ค. 2564 | 18:00 น.

เปิดเงินกู้ 4 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กู้พุ่งเฉียด 5.5 ล้านล้านบาท

หลัง พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อ 26 พฤษภาคม 2564 แม้วงเงินกู้จะลดลงจาก 7 แสนล้านบาทเหลือเพียง 5 แสนล้านบาท แต่ก็จะทำให้ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น รัฐบาลที่มีการกู้เงินมากที่สุด ถึง  5.485 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว 

นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์เข้าบริหารประเทศเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลได้ดำเนินการกู้เงินไปแล้ว 3.285 ล้านล้านบาท โดยเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2564 แถมช่วงปีงบประมาณ 2559-2561 รัฐบาลยังมีการกู้เพิ่มเติมจากการทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่า “งบกลางปี” อีกด้วย และหากรวมกับพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือกับโควิด-19 รัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์จะกู้เงินสูงถึง 4.285 ล้านล้านบาท และยังเงินกู้ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ยังเป็นงบขาดดุลอีก 7 แสนล้านบาท รวมถึงวงเงินกู้ล่าสุดอีก 5 แสนล้านบาท  

ย้อนไปก่อนหน้า รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลระหว่างปี 2555-2557 ทั้งสิ้น 9.5 แสนล้านบาท และหากรวมพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการ นํ้าและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท จะมีวงเงินกู้อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท  ขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... วงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงทำให้กฎหมายตกไป

ส่วน รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณระหว่างปี 2552-2554 รวม 1,097,028 ล้านบาท โดยยังไม่รวมกับพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 4 แสนล้านบาท หรือไทยเข้มแข็ง เพื่อต่อสู้วิกฤติการเงินโลกที่เกิดขึ้นปลายปี 2551-2552 ซึ่งหากรวมเงินกู้ตามพ.ร.ก.เข้าไปจะสูงถึง 1,497,028 ล้านบาท

สุดท้ายเป็น รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยมีการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ระหว่างปี 2545-2547 รวม 474,800 ล้านบาท และปี 2548-2549 เป็นการใช้งบประมาณสมดุล หลังจากการจัดเก็บรายได้สูงขึ้นตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,682 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง