ฉันทามติ 5 ข้อ อาเซียน ความหวังหรือซื้อเวลา“เมียนมา” 

01 พ.ค. 2564 | 01:05 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เขียนบทความเรื่อง "ฉันทามติ 5 ข้ออาเซียน" : ความหวังหรือซื้อเวลา "เมียนมา"ความว่า

ฉันทามติ 5 ข้อ อาเซียน ความหวังหรือซื้อเวลา“เมียนมา” 

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนัดพิเศษเมื่อวันเสาร์ที่ 24 เม.ย 2564 เริ่มเวลา 14.30 น. (ใช้เวลา 3 ชม.ในการประชุม) ณ.อาคารสำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย “วิกฤติในเมียนมา” เป็นหนึ่งในหัวข้อการประชุม (การสร้างความเข้มแข็งอาเซียน โควิดและสถานการณ์ในเมียนมาและโรฮิงญา) มี 3 ประเทศที่ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมประชุมคือไทย สปป.ลาว และฟิลิปฟินส์ ส่วน 7 ประเทศที่เหลือเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศเข้าร่วมประชุม

การประชุมครั้งนี้ถือว่า “ครั้งแรกของ 3 เรื่อง” 1.เป็นประวัติศาสตร์ของชาติอาเซียนที่ตลอด 53 ปีการก่อตั้งอาเซียน ยังไม่เคยมีการประชุมนัดพิเศษเพื่อแก้ปัญหาต่อการเมืองประเทศสมาชิก 2.เป็นครั้งแรกของพลเอก มิน อ่อง หล่าย ที่เดินทางออกนอกประเทศหลังการปฏิวัติ และ 3.เป็นครั้งแรกของผู้นำอาเซียนที่ “ประชุมกันซึ่งหน้า ไม่ใช่ออนไลน์” ตั้งแต่มีโควิด

ก่อนการประชุมผู้นำแต่ละประเทศใช้ “การไหว้” เป็นการทักทายกับนาย ลิม จก โฮย (Lim Jock Hoi) เลขาธิการอาเซียน (คนบรูไน) ที่มาต้อนรับ การประชุมนั่งแบบ “ตัว U” เริ่มต้นทางขวา นายกฯ กัมพูชา ตามด้วย ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายกฯ สปป.ลาว นายกฯ มาเลเซีย พลเอกมิน อ่อง หล่าย รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปฟินส์ นายกฯ สิงคโปร์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยและนายกฯ เวียดนาม (คนใหม่) โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียร์ แห่งบรูไนเป็นประธาน

ก่อนจะมีการประชุมนัดพิเศษนี้ 1.วันที่ 1 ก.พ. 2564 แถลงการณ์ประธานอาเซียน มี 4 ข้อ แต่ข้อที่ 4 คือให้มีพูดคุย สร้างสันติภาพและให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา 2.วันที่ 2 มี.ค 2564 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนประชุมออนไลน์เป็นห่วงสถานการณ์ในเมียนมา 3.วันที่ 19 มี.ค. 2564 ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเรียกร้องให้อาเซียนจัดประชุมต่อวิกฤติในเมียนมา และ 4.เมื่อวันที่ 4-5 เม.ย. 2564 แถลงการร่วมของสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน และนายกฯ มาเลเซียใน “23rd Annual  Leaders’  Consultation” มี 29 ข้อ และข้อที่ 25 มีความกังวลสถานการณ์ในเมียนมาและคนตาย เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแก้ไขและให้มีการประชุมที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ไม่ระบุวัน)

 

ฉันทามติ 5 ข้อ อาเซียน ความหวังหรือซื้อเวลา“เมียนมา” 

การประชุมครั้งนี้ถูกวิจารณ์ว่า “อาเซียนรับรองการปฏิวัติเมียนมา” แต่ ดร.วิเวียน บาลากริชนัน (Vivian Balakrishnan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า “ไม่ได้ยอมรับผู้นำทหารในฐานะรัฐบาลเมียนมา” แต่ยอมรับรัฐธรรมนูญเมียนมา 2008 ที่ทหารเป็นสถาบันการเมืองในเมียนมา (ทหารมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร “ปยีตุ้ ลุ้ดด่อ (Pyithu Hluttaw)” และรัฐสภา “อะเมี๊ยวตา ลุ้ดด่อ(Amyotha Hluttaw)” สัดส่วน 25% ของจำนวนที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎรทหารมีที่นั่ง 110 ที่นั่งมาจากการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก และ 330 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้ง และในรัฐสภาทหารมีที่นั่ง 56 ที่นั่งจากการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก และ 168 ที่นั่งที่มาจากการเลือกตั้ง) ขณะเดียวกันมีจดหมายเปิดผนึก เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 จาก 744 คน 402 ภาคประชาสังคมในเมียนมาและ 444 ภาคประชาสังคมอาเซียน แสดงความไม่เห็นด้วยที่ให้ผู้นำทหารที่ผิดกฎหมายเข้าร่วมประชุมและต้องให้ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (National Unity Government : NUG) (ตั้งเมื่อ 16 เม.ย.2564) เข้าประชุมด้วย และอีกฉบับลงวันที่ 22 เม.ย.2564 เช่นกัน

 อินโดนีเซียเป็นประเทศที่แสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมาและกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย   “Retno Marsudi” บอกว่า “รับไม่ได้” (พูดที่การประชุมทวิภาคีอินโดนีเซียกับญี่ปุ่นที่โตเกียว) ทำไม? อินโดนีเซียจึงผลักดันกรณีเมียนมามากเป็นพิเศษ เพราะ 1.อินโดนีเซียมีความสัมพันธ์กับเมียนมานาน การเมืองอินโดนีเซียและเมียนมากคล้าย ๆ กัน คือตกเป็นอาณานิคม (อินโดนีเซียได้เอกราชปี 1945 เมียนมาได้เอกราชปี 1948) และการปกครองของทหารเหมือนกัน (พลตรีซูฮาร์โต ตั้งแต่ 1967-1998 : 31 ปี นายพลเนวินของเมียนมา ตั้งแต่ 1962-1988 : 26 ปี) แต่ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประชาธิปไตยในขณะที่เมียนมายังไม่เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย (เมียนมาพยายามศึกษาการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย)

 2.สถานะอินโดนีเซียเหมาะสม ไม่มีผลประโชยน์ทางเศรษฐกิจมากนัก (FDI ไม่มากในเมียนมา) และ 3.อดีตประธานาธิบดี SBY (Susilo Bambang Yudhoyono) อินโดนีเซียที่ใกล้ชิดและผลักดันให้เมียนมาเข้าสู่เส้นทางประชาธิบไตย ถือได้ว่าเป็น “ทหารนักปฎิรูป โดยเฉพาะนโยบาย MP3EI” รวมทั้งช่วยเหลือโรฮิงญาในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

 “สรุปฉันทามติ 5 ข้อ”ของอาเซียนในการประชุมครั้งนี้ คือ 1.ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง 2.ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ 3.ให้มีฑูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา 4.อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ 5.ฑูตพิเศษเข้าไปเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย นี้คือ “เริ่มนับหนึ่งในการแก้วิกฤติเมียนมา”

แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปว่า  5 ข้อนี้จะมีส่วนช่วยให้วิกฤติเมียนมาคลี่คลายหรือไม่เพราะ 1. “3 ขาด” คือขาดกรอบระยะเวลา ขาดแผนการปฎิบัติ และขาดกลไกการขับเคลื่อน เสมือนจะเป็นการซื้อเวลาทั้งอาเซียนและทหารเมียนมาหรือไม่ 2.“การปล่อยตัวนักโทษถูกเมิน” ไม่มีการพูดถึงคนที่ถูกจับไปขณะนี้จำนวน 3,300 คน ตาย 750 คน ใครรับผิดชอบ ญาติของคนเหล่านี้ “รู้สึกอย่างไร” 3. "อาเซียนไม่มีเป็นเอกภาพ”  มาเลเซีย อินโดนีเซียและสิงคโปร์ รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา ในขณะที่ไทย และ CLV ถือว่าเป็นเรื่อง “ภายในประเทศ”

4.ข้อเรียกร้อง “ NUG และ CDM ไม่ได้รับการตอบสนอง” และมองว่าฝ่ายประท้วงไม่ได้เป็นผู้สร้างความรุนแรง 5.”เส้นทางขนานของวิถีเมียนมากับวิถีอาเซียน” เมียนมาสามารถปิดประเทศโดยไม่สนใจกับโลกภายนอกได้ เห็นได้จากการคว่ำบาตรเศรษฐกิจของยุโรป สหรัฐฯ และนานาชาติที่ไม่มีต่อเมียนมา ส่วนวิถีอาเซียนคือการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (ปฏิญญากรุงเทพ 1967 และสนธิสัญญาไมตรี 1976) และใช้ฉันทามติมากกว่าใช้กฏหมายบังคับ ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะจบเช่นไรครับ

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8  ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564