อัพเดท “เราชนะ” ใช้จ่ายได้ถึง 30 มิ.ย.64 แต่ไม่เปิดลงทะเบียนเพิ่ม

22 เม.ย. 2564 | 06:11 น.

อัพเดท “เราชนะ” ขยายสิทธิ์ใช้จ่ายได้ถึงวันสุดท้าย 30 มิ.ย.64 แต่ไม่เปิดลงทะเบียนเพิ่ม

(22 เม.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการเราชนะ ว่า รัฐบาลไม่ได้มีการเปิดรับสมัครลงทะเบียนเพิ่ม

ก่อนหน้านี้ ครม.ได้เคยมีมติอนุมัติจำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ 31.1 ล้านคน แต่เนื่องจากจำนวนผู้มีสิทธิที่เข้าร่วม โครงการเราชนะ จริงมีมากกว่าที่ประมาณการไว้ ดังนั้น ครม.จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการเราชนะให้เป็นประมาณ 33.5 ล้านคน เนื่องจากมีผู้รับสิทธิสูงกว่ากรอบเดิมที่วางไว้

กระทรวงการคลังจึงได้ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมมาใช้ให้สอดคล้องกับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น โดยกระทรวงการคลังไม่ได้มีการเปิดรับสมัครลงทะเบียนเพิ่มในโครงการเราชนะแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบขยายระยะเวลา "เราชนะ" ที่ประชาชนผู้ได้รับสิทธิสามารถใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 2564 จากเดิมที่ใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. 2564 และให้กระทรวงการคลังพิจารณาผลการทบทวนสิทธิให้เสร็จสิ้นภายใน 13 พ.ค. 64 ด้วย

ทั้งนี้ ความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 21 เมษายน 2564 มีรายละเอียดผู้ได้รับสิทธิ และการใช้จ่าย ดังนี้

1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีจำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน

73,254 ล้านบาท

2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 16.8 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 113,233 ล้านบาท

3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.3 ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 14,247 ล้านบาท

ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการเราชนะ แล้ว รวมทั้งสิ้นจำนวน 32.8 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 200,734 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ โดยแยกเป็นการใช้จ่ายผ่านร้านธงฟ้า 68,671 ล้านบาท, ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 38,538 ล้านบาท, ร้าน OTOP 8,343 ล้านบาท, ร้านค้าทั่วไปและอื่นๆ 81,199 ล้านบาท, ร้านค้าบริการ 3,849 ล้านบาท, และขนส่งสาธารณะ 134 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง