ตั้งเสาไฟฟ้าในที่ดินของเอกชน ทำได้เท่าที่จำเป็น!

24 เม.ย. 2564 | 01:15 น.

ตั้งเสาไฟฟ้าในที่ดินของเอกชน ทำได้เท่าที่จำเป็น! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย... นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,673 หน้า 5 วันที่ 25 - 28 เมษายน 2564

ปัจจุบันวิถีชีวิตในสังคมพึ่งพาการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จึงปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าและเขตเดินสายไฟฟ้าเพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้ใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอและทั่วถึง แต่การปักเสาหรือตั้งเสาไฟฟ้าลงบนที่ดินของเอกชนหรือประชาชนนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิการใช้สอยประโยชน์ในที่ดินของเจ้าของที่ดิน 

อุทาหรณ์จากคดีปกครองในฉบับนี้ เป็นเรื่องราวของเจ้าของดินซึ่งเดิมที่ดินของตนอยู่ในเขตเดินสายไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ โดยมีเสาและสายไฟฟ้าพาดผ่านบางส่วนของที่ดินและต่อมาได้มีการรื้อถอนออกไป หลังจากนั้น กฟผ.ได้ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าและก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ แทนภายในเขตเดินสายไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมในที่ดินดังกล่าว และมีการปรับปรุงจุดที่ตั้งเสาไฟฟ้า โดยการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าใหม่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 

เจ้าของที่ดินจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งพิจารณาแล้วมีมติให้ย้ายจุดที่ตั้งเสาไฟฟ้า โดยปรับเคลื่อนเดินหน้าในแนวตรงตามศูนย์กลางในแนวเดิมของเสาสายส่งไฟฟ้าออกไปประมาณ 45 เมตร จากจุดเดิมที่อยู่บริเวณกึ่งกลางที่ดินให้ไปอยู่บริเวณพื้นที่ขอบแนวเขตที่ดิน เพื่อลดผลกระทบในการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเจ้าของที่ดิน

เจ้าของที่ดินเห็นว่า การปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็นขนาด 230 กิโลโวลต์ เป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดิน และการกำหนดจุดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าวในที่ดินของตน เป็นการก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพของตนและคนในครอบครัว ทั้งยังทำให้ที่ดินเสื่อมราคา จึงยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีคำพิพากษาย้ายแนวสายไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินของตน 

ปัญหาที่น่าสนใจคือ การกำหนดจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยความว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (กฟผ.) มีอำนาจตามกฎหมายในการประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการส่งพลังงานไฟฟ้า และเดินสายส่งไฟฟ้าหรือจำหน่ายไฟฟ้าไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ปักหรือตั้งเสาลงในหรือบนที่ดินของบุคคลใดได้ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 

โดยให้ กฟผ.แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของ หรือ ผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้น อาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้น ไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด 

โดยที่การดำเนินการดังกล่าวย่อมมีผลเป็นการจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินในการใช้สอยที่ดิน กฟผ.จึงต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ใช้บังคับขณะเกิดกรณีพิพาท) 

 

เมื่อข้อเท็จจริง กฟผ.ได้ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าเพื่อก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ โดยรื้อระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาด 150 กิโลโวลต์ เดิม ที่พาดผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดีออก เนื่องจากต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการจ่ายไฟฟ้า รักษาความมั่นคงของการจ่ายไฟฟ้า และรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและด้านพลังงาน จึงทำให้ต้องมีการกำหนดจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของผู้ฟ้องคดี นั้น  

แม้ว่าการปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าว จะเป็นการจำกัดสิทธิในการใช้สอยที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเต็มที่ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าพาดผ่านอยู่แต่เดิมได้รับความเสียหาย สูญเสียศักยภาพ เสื่อมประโยชน์ และ เสื่อมราคาจากการรอนสิทธิเพิ่มเติมจากเดิม 

อีกทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของ กฟผ. ได้มีมติให้ย้ายตำแหน่งที่ตั้งเสาไฟฟ้าจากจุดเดิมที่อยู่บริเวณกึ่งกลางที่ดินไปอยู่บริเวณพื้นที่ขอบแนวเขตที่ดินเพื่อลดผลกระทบในการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นคุณแก่การใช้สอยที่ดินของผู้ฟ้องคดีมากขึ้น 

 

ตั้งเสาไฟฟ้าในที่ดินของเอกชน ทำได้เท่าที่จำเป็น!

 

ในส่วนปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพตามงานวิจัยที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างมานั้น เป็นผลการวิจัยที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้ามีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งโดยตรง  

เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นในการส่งและการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งเป็นการดำเนินกิจการด้านสาธารณูปโภคที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประชาชน กับข้อจำกัดสิทธิในการใช้สอยที่ดินของผู้ฟ้องคดี อันเป็นประโยชน์ส่วนบุคคล ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าและกำหนดจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของผู้ฟ้องคดี 

 

จึงเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 เท่าที่จำเป็นและไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในการใช้สอยที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ รับรองไว้ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 180/2562)

คดีดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการชั่งนํ้าหนักระหว่างผลประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับกับผลกระทบที่จะเกิดแก่เจ้าของที่ดินตามหลักความได้สัดส่วน ซึ่งถือว่าหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการโดยชอบด้วยขอบเขตของกฎหมายที่ให้อำนาจและกระทบต่อประโยชน์ของเอกชนเท่าที่จำเป็น 

รวมทั้งไม่ได้ทำให้ที่ดินของเจ้าของซึ่งมีเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าพาดผ่านอยู่แต่เดิมได้รับความเสียหาย หรือเสื่อมราคาจากการรอนสิทธิเพิ่มเติมจากเดิม และไม่ถึงขนาดกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในการใช้ที่ดินของเจ้าของที่ดิน ในส่วนผลกระทบต่อสุขภาพนั้นจำต้องพิจารณาจากผลการวิจัยและความเห็นทางวิชาการที่มีความชัดเจนแล้ว ...นั่นเองครับ

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่... สายด่วนศาลปกครอง 1355)