ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (2)

25 เม.ย. 2564 | 07:30 น.

ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (2) : คอลัมน์เศรษฐทัศน์ โดย...  รศ.(พิเศษ) ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,673 หน้า 5 วันที่ 25 - 28 เมษายน 2564

ในตอนที่ 2 ของบทความชุดนี้ จะขอสรุปให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลกหากเราไม่ทำอะไรหรือทำแต่ไม่เพียงพอ ที่จะช่วยกันลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งจะสรุปสถาน การณ์ในมิติสังคมโลกที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

 

ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน

• ข้อมูลจาก greenpeace.org สรุปผลถึงกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นในตอนเริ่มต้นที่อุณหภูมิของโลกที่เพิ่งร้อนขึ้นเล็กน้อยถึงปานกลางไว้ดังนี้

• ระดับนํ้าทะเลเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก ธารนํ้าแข็งที่กำลังละลาย และอุณหภูมิทั่วโลกที่กำลังสูงขึ้น จากการขยายตัวทางความร้อนของนํ้าในมหาสมุทร

• ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมามหาศาลจากชั้นดินเยือกแข็ง และป่าที่กำลังตาย

• มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดสภาพอากาศรุนแรง เช่น เคลื่อนความร้อน ความแห้งแล้งและนํ้าท่วม ในปัจจุบันความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้น มากกว่าใน 30 ปี ที่ผ่านมา 2 เท่า

• ผลกระทบรุนแรงในระดับภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ในยุโรป จะเกิดนํ้าท่วมจากแม่นํ้าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ส่วนมากของทวีป และตามพื้นที่ชายฝั่งจะเสี่ยงต่อนํ้าท่วม การกัดเซาะและการสูญเสียพื้นที่ในทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งในทวีปอื่นๆ ก็จะเผชิญปัญหาเดียวกัน 

• ระบบทางธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ ธารนํ้าแข็ง ปะการัง ป่าชายเลน ระบบนิเวศของทวีปอาร์กติก ระบบนิเวศของเทือกเขาสูง ป่าสนแถบหนาว ป่าเขตร้อน เขตลุ่มนํ้าในทุ่งหญ้า และเขตทุ่งหญ้าในท้องถิ่นจะถูกคุกคามอย่างรุนแรง

• สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธ์มากขึ้น และเกิดความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

• ผลกระทบที่รุนแรงกว่าจะตกอยู่กับประเทศยากจน เช่น ในทวีปแอฟริกา เอเซียและมหาสมุทรแปซิฟิค ที่มีความสามารถน้อยที่สุดในการป้องกันตนเองจากระดับนํ้าทะเลที่สูงขึ้น การแพร่กระจายของ เชื้อโรค และผลผลิตการเกษตรที่ตํ่าลง

และหากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป มีการคาดการณ์ว่า ผลกระทบร้ายแรงในระยะยาวอาจปรากฎออกมาในลักษณะดังนี้

• แผ่นนํ้าแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ และทวีปแอนตาร์กติกา จะละลาย หากไม่ควบคุม ความร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจจุดชนวนในเกิดจากการละลายของแผ่นนํ้าแข็งทั้งหมดในเกาะกรีนแลนด์ ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ระดับนํ้าทะเลเพิ่มขึ้นสูงขึ้นถึง 7 เมตรได้ในที่สุด มีหลักฐานใหม่ที่แสดงว่าอัตราการไหลลงตํ่าของนํ้าแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาแสดงถึงภาวะเสี่ยงที่จะละลายทั้งหมด

• กระแสนํ้าอุ่นในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ไหลช้าลงเปลี่ยนทิศทาง หรือหยุดไหลซึ่งส่งผลกระทบอย่างสูงในยุโรป และทำให้ระบบการไหลเวียนของมหาสมุทรผิดปกติ

• หายนะจากการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างมหาศาลจากมหาสมุทร ซึ่งทำให้ก๊าชมีเทนในบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้โลกร้อนขึ้น

 

ข่าวร้าย (โลกร้อน)

จากการสำรวจข่าวสารที่เกี่ยว ข้องกับเหตุการณ์และผลกระทบจากโลกร้อนมีเพิ่มขึ้นตลอดเวลาข้อมูลจาก sanook.com ได้สรุปข่าวโลกร้อนในปี 2563 ไว้ดังตัวอย่างดังต่อไปนี้

• พายุลูก 16-17 ก่อตัวพร้อมกันเหนือแอตแลนติก ปีนี้จำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (8 ก.ย. 63)

ในเนื้อข่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (โนอา) คาดการณ์ว่าปีนี้ (2563) จะเป็นปีที่เกิดพายุเฮอร์ริเคนมากที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากอุณหภูมิผิวทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแอตแลนติกที่อุ่นกว่าปกติ

 

ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (2)

 

• นักวิจัยชี้ “หมีขั้วโลก” จะสูญพันธ์ช่วงปลายศตวรรษเนื่องจากภาวะโลกร้อน (4 ก.ค. 2563)

เนื้อข่าวอธิบายว่า หมีขั้วโลกใช้แผ่นนํ้าแข็งกลางทะเลเพื่อล่าแมวนํ้าเป็นอาหารแต่เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น แผ่นนํ้าแข็งค่อยๆ หายไปส่งผลต่อการหาอาหารของหมีขั้วโลกซึ่งในที่สุดอาจส่งผลต่อประชากร หมีขั้วโลกลดลงจนอาจสูญพันธ์ได้

• “วัวเรอ” ปัจจัยที่ทำให้ระดับการปล่อย “ก๊าซมีเทน” ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น (21 ก.ค. 63) 

เนื้อข่าวสรุปว่า “การปศุสัตว์”  เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับของก๊าซมีเทนเพิ่มสูงขึ้น โดยสามารถมีปริมาณที่มากเท่าๆ กับอุตสากรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม เช่นใช้สาหร่ายเลี้ยงวัว เพื่อลดปริมาณการเรอก๊าซมีเทนของวัว เป็นต้น หรือกรณีของเบอร์เกอร์คิง (Burger King) ได้ประกาศใช้ตะใคร้เลี้ยงวัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การเปลี่ยนแปลงอาหารวัวของเบอร์เกอร์คิงในครั้งนี้จะช่วยลดก๊าซมีเทนของวัวได้มากถึง 33 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน

• นักวิทย์ชี้ “คลื่นความร้อน” ในไซบีเรียมีแนวโน้มเกิดจากฝีมือมนุษย์ (17 ก.ค. 63)

เนื้อข่าวรายงานว่านับตั้งแต่ต้นปี 2563 (2020) ไซบีเรียต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน อุณหภูมิในเขตอาร์กติกสูงถึง 38 องศาเซลเซียสซึ่งวัดจากเมืองเวียร์โคยันสค์ ประเทศรัสเซีย คลื่นความร้อนในไซบีเรียส่งผลให้อุณหภูมิในพื้นที่นี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 5 องศาเซนเซียสในช่วง 6  เดือนที่ผ่านมา ทั้งยังก่อให้เกิดไฟป่า ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายล้านตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และนำไปสู่ภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังส่งผลให้ “ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว” (Permafrost) ละลาย ทำให้ถังเก็บนํ้ามันเชื้อเพลิงเสียหาย และนํ้ามันจำนวนมากรั่วไหลในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งการเกิดระบาดของผีเสื้อกลางคืน ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชของไซบีเรีย ข่าวยังสรุปด้วยว่าต้นเหตุสำคัญน่าจะมาจากฝีมือมนุษย์

• UN คาด “โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน” อาจเพิ่มขึ้น เหตุจากธรรมชาติถูกทำลาย (8 ก.ค. 63)

รายงานชิ้นใหม่ของสหประชาชาติเตือนว่า อัตราการเกิดโรคติดต่อที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน เช่น โรคโควิด-19 จะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัย ของสัตว์ถูกทำลาย การค้าสัตว์ป่า การทำเกษตรด้วยระบบที่ไม่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดย “เชื้อก่อโรค” หรือที่รู้จักกันว่าเป็น โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน รวมทั้งโรคอีโบลา โรคเมอร์ส โรคเอดส์และโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ มีอัตราการแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้นเพราะมนุษย์รุกลํ้าที่อยู่อาศัยของสัตว์

• นักวิจัยเผย ชาวออสเตรเลียตายด้วยโลกร้อนนับหมื่น วอนบรรจุเป็นสาเหตุการตาย (22 พ.ค. 63)

งานวิจัยเผยแพร่โดยมหาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) เปิดเผยว่า ความร้อนตามธรรมชาติที่มีมากจนเกินไปนั้นเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนมากกว่าจำนวนคนที่ได้รับการบันทึกว่าเสียชีวิตเพราะสาเหตุนี้อย่างน้อย 50 เท่า จากตัวเลขสถิติพบว่าตลอด 11 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตในออสเตรเลียที่ควรถูกระบุ สาเหตุการตายว่าเป็นเพราะความร้อนมากถึง 36,765 ราย แต่พวกเขากลับระบุสาเหตุการตายในใบมรณบัตรเช่นนั้นจริงๆ เพียง 340 รายเท่านั้น ทั้งนี้ไฟป่าในหน้าร้อน  เป็นผลมาจากความร้อนและความแห้งแล้งที่สูงผิดปกติ ขณะที่ผู้เสียชีวิตในเหตุไฟป่านั้นไม่ได้มีแค่นักผจญเพลิงแต่ยังมีชาวออสเตรเลียอีกไม่น้อยที่ต้องเสียชิวิตก่อน วัยอันควรเพราะสูดควันไฟ

 

การเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นปี 64

ข้อมูลจาก www.khaosod.co.th /around-the-world-news/news_5653336 ได้สรุปไว้ว่าในปี 2564 อาจจะมีเหตุการณ์ที่จะช่วย “ชี้เป็นชี้ตาย” ในการต่อสู้กับ ปัญหานี้ได้แก่

• การประชุมใหญ่ว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศในเดือน พ.ย. 2564

การประชุมที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในปลายปีนี้มีความคาดหวังว่าจะเป็นเวทีที่มีการหารือกันถึงความเป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ยิ่งกว่าเดิมเพราะหลังจากที่เคยร่วมประชุมกันในกรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อปี 2015 และตกลงกันว่าจะพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อควบ คุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซนเซียสแต่ก็ยังห่างไกลจากแผนอยู่มาก

• การให้คำมั่นของประเทศต่างๆเพิ่มขึ้นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์

ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ เมื่อเดือน ก.ย. 2563 จีนได้ประกาศว่ามีการตั้งเป้าที่จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2603 (ค.ศ. 2060) ซึ่งสร้างความตกตะลึงเพราะจีนเป็นประเทศที่มีการ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลกคือประมาณ 28% และการจะลดได้ต้องมีต้นทุนและความพยายามอย่างมาก แต่ก็ถือว่าช่วยทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่ดีจากคำมั่นดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่ประกาศทำนองเดียวกัน สหประชาชาติประเมินว่าจะมี 110 ประเทศ ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ โดยประเทศเหล่านี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันมากกว่า 65% ของทั้งโลก และมีขนาดเศรษฐกิจสูงกว่า 70% ของโลก

• แนวโน้มการผลิตพลังงานหมุนเวียนมีมากขึ้นและราคาจะยิ่งถูกลง

ประเทศต่างๆจะหันมาเพิ่มการลงทุนในพลังงานลม  พลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งโดยปกติต้นทุนการผลิตตอนนี้ไม่แพงแล้ว และมีแนวโน้มจะลดตํ่าลงอีก จนในที่สุดสามารถทำให้ปิดโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลได้

• โลกหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนไป

โรคระบาดนี้ช่วยยํ้าเตือนว่า โลกเราอาจเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิดที่เราไม่สามารถควบคุมได้ หลังเหตุการณ์โควิด การสนับสนุนโครงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรเทาปัญหาความไม่แน่นอนเหล่านี้จะมีมากขึ้น ทั้งในมิติของประเทศ ธุรกิจ และระดับของประชาชน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (1)