ยกระดับ ‘คุมโควิด’ พิสูจน์รัฐบาลปั้นจีดีพี4%

08 เม.ย. 2564 | 05:50 น.

ยกระดับ ‘คุมโควิด’ พิสูจน์รัฐบาลปั้นจีดีพี4% : บรรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3668 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย.2564 

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยที่กระโดดสูงกลับเป็นหลักร้อย กระตุกความวิตกกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ให้กลับมาอีกครั้ง โดยเป็นการแพร่กระจายในกลุ่มก้อนนักเที่ยวสถานบันเทิงผับ บาร์ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล แล้วนำเชื้อไปกระจายในหลายจังหวัด และกลุ่มก้อนเรือนจำนราธิวาส ในช่วงก่อนนับถอยหลังสู่ช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ในกลางเดือนเมษายนนี้

กระทรวงสาธารณสุขประชุมด่วนทันที กรมควบคุมโรคโดยที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการ และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินสธ. (EOC) ให้ยกระดับมาตรการคุมโควิด-19 อีกรอบ โดยจัดระบบแบ่งพื้นที่จังหวัดตามโซนสี 4 ระดับใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เข้มข้นสุดคือพื้นที่สีแดง 5 จังหวัดควบคุมสูงสุด ประกอบด้วย กทม.และปริมณฑล ร้านอาหาร-สถานบันเทิงให้บริการได้ถึง 21.00 น. ห้ามจำหน่ายสุรา เตรียมพร้อมทีมงานสาธารณสุขเฝ้าระวังคนจากพื้นที่เสี่ยง โดยไม่ห้ามการเดินทาง มีกรอบดำเนินการ 2 สัปดาห์ พร้อมเริ่มทันทีหากที่ประชุมศบค.เห็นชอบ ซึ่งจะครอบคลุมห้วงเวลาเทศกาลสงกรานต์นี้ 

เป็นการกลับมายกระดับมาตรการคุมโควิด-19 อีกครั้งของไทย ตามรอยสถานการณ์ในหลายประเทศทั่วโลก ที่เกิดการระบาดรอบที่ 3 หลายแห่งสั่งล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงอีกครั้ง และเพิ่มความท้าทายแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแง้มประตูเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นขั้นตอนสู่ภาวะปกติในต้นปี 25651 ของรัฐบาลที่เพิ่งคิกออฟเมื่อต้นเดือนเม.ย.2564    
   

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รายงานประชาชน ถึงแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านทางรายการ PM PODCAST เมื่อ 3 เม.ย. 2564 ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายให้ GDP ของประเทศไทยเพิ่มเป็น 4% จากที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจปรับลดเหลือ 3% โดยต้องอาศัยการส่งออก การลงทุนจากภาครัฐ รวมถึงการบริโภคของประชาชน รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 

การ “ยกการ์ด” เพิ่มระดับมาตรการคุมโควิด-19 อีกรอบ ส่งผลโดยตรงในการชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ลง เบื้องต้นสุดคือช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้ยังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาด รัฐให้จัดกิจกรรมเชิงประเพณี โดยงดการละเล่นที่มีโอกาสรวมกลุ่มสัมผัสตัว ที่จะเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้ออยู่แล้ว ยิ่งจำกัดเวลาให้บริการร้านอาหารและสถานบันเทิง ตลอดจนเฝ้าระวังผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง รวมถึงส่งผลเชิงจิตวิทยาให้ยิ่งระวังตัว ทำให้การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวเพิ่ม ทำให้เศรษฐกิจกลับมาติดเบรกทั้งที่เพิ่งจะเร่งเครื่อง

ภาวการณ์ที่ต้องสลับปรับน้ำหนัก ระหว่างการดูแลด้านสาธารณสุขกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นเรื่องปกติในภาวะที่การระบาดของเชื้อโรคยังแผลงฤทธิ์  จึงไม่ควรพะวักพะวงถึงตัวเลขเติบโตจีดีพี ที่ตั้งไว้เป็นเป้าหมายการบริหารจัดการ แต่ต้องปรับตามสถานการณ์ที่เป็นจริง เพื่อรักษาสมดุลระหว่างความปลอดภัยและลมหายใจทางเศรษฐกิจ ให้ประคองผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ร่วมกัน