ทย.เปิด 2 โมเดล ปั้นแผนหารายได้  29 สนามบิน

08 เม.ย. 2564 | 02:30 น.

ทย.ผุด 2 โมเดลดันแผนพัฒนารายได้ 29 สนามบิน อัพเกรดสนามบินภูมิภาค เล็งเจรจาสายการบินในสัปดาห์นี้ คาดได้ข้อสรุปเม.ย.64 ลั่นเงินกองทุนหมุนเวียนติดลบกว่า 100 ล้านบาท จ่อเปิดโปรแกรมเที่ยวบิน-แพ็กเกจทัวร์ กระตุ้นรายได้ เร่งขยายสนามบินเพิ่ม 19 แห่ง รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ให้บริการ

 

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้แต่ละสายการบินได้รับผลกระทบ  กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จึงจัดทำแผนหารายได้จาก 29 สนามบิน เพื่อชดเชยรายได้จากปริมาณผู้โดยสารที่ลดลง นั้น นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ทย.มีแผนให้สายการบินเปิดบินข้ามภาค เนื่องจากทย.เล็งเห็นศักยภาพของสนามบินในภูมิภาคที่กำกับดูแล ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เบื้องต้นภายในสัปดาห์นี้ จะเชิญผู้บริหารแต่ละสายการบินหารือขอความคิดเห็นเพื่อพัฒนาสนามบินภูมิภาคในอนาคต เช่น แผนการบริหารจัดการด้านเวลาการบิน (Slot) แผนด้านการบริการ เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายนนี้ หลังจากนั้นจะประชุมร่วมกับฝ่ายปฏิบัติการของทย. ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 

“ปัจจุบันเราเห็นว่าท่าอากาศยานภูมิภาคที่ทย.ดูแลนั้น พัฒนาได้เยอะแล้ว อีกทั้งสามารถนำเครื่องบินขนาดใหญ่ทำการบินข้ามภาคได้ โดยเราต้องการส่งเสริมพัฒนาสนามบินและอำนวยความสะดวกในการให้บริการเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิและลดความแออัดการเดินทางในกรุงเทพฯ อีกทั้งเป็นนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้เราเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน”

นายอภิรัฐ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเงินกองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานติดลบ กว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีผู้โดยสารเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทย.มีความจำเป็นต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในท่าอากาศ ยานภูมิภาค หากทย.บริหารจัดการโดยจ้างสายการบินเข้ามาทำการบินในลักษณะเดิมคงไม่ได้ อีกทั้งการให้บริการเครื่องบินน้อย เนื่องจากพื้นที่ภายในสนามบินแต่ละแห่งในแถบภูมิภาคไม่เพียงพอต่อการนำเครื่องบินขนาดใหญ่ลงจอด ทำให้รายได้ลดลง

“เราเชื่อว่าแผนการบินข้ามภาคจะช่วยให้กองทุนหมุนเวียนที่ติดลบลดลงได้ เพราะปัจจุบันเรามีแนวคิดจัดทำโปรแกรมทัวร์แบบแพ็กเกจ ซึ่งไม่ใช่แค่การรับ-ส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องบินเท่านั้น เบื้องต้นเป็นการจัดโปรแกรมให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยมีรถรับส่งผู้โดยสารทั้งขาไปและขากลับ รวมทั้งการจัดหาที่พัก โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากเราเห็นว่านักท่องเที่ยวชอบเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยค่อนข้างเยอะ หากเราเน้นทำการบินเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ทั้งนี้ทย.สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเห็นชอบ เนื่องจากแผนดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของทย.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด อยู่แล้ว”

ทย.เปิด 2 โมเดล  ปั้นแผนหารายได้   29 สนามบิน

ทั้งนี้ทย.มีแผนพัฒนาขยายท่าอากาศยานในภูมิภาค เบื้องต้นทย.ประเมินพบว่า มีท่าอากาศยานภูมิภาค จำนวน 19 แห่ง ที่มีศักยภาพสามารถนำเครื่องบินขนาดใหญ่ลงจอดได้ เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จังหวัดตาก ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานนานาชาติอุบล ราชธานี ท่าอากาศยานนครศรี ธรรมราช ท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานชุมพร ท่าอากาศยานระนอง ฯลฯ ซึ่งจะมุ่งเน้นกระจายรายได้ในพื้นที่ในท่าอากาศยานภูมิภาคมากขึ้น เบื้องต้นทย.จะขยายพื้นที่ของท่าอากาศยานแต่ละแห่งราว 1 กิโลเมตร (กม.) โดยมุ่งเน้นท่าอากาศยานที่มีพื้นที่ให้บริการในระยะทางที่สั้น ปัจจุบันทย.อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความคุ้มทุนของท่าอากาศยานแต่ละแห่ง สามารถรองรับเศรษฐกิจในพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ ได้ 

คาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาได้ภายในปี 2565 ขณะเดียวกันต้องประเมินรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวด ล้อม (อีไอเอ) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2566 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564