เลือกตั้งบัตร 2 ใบ พรรคใหญ่ตีปีก ‘พรรคเล็ก’สูญพันธุ์

08 เม.ย. 2564 | 06:50 น.

เลือกตั้งบัตร 2 ใบ พรรคใหญ่ตีปีก ‘พรรคเล็ก’สูญพันธุ์ : รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,668 หน้า 10 วันที่ 8 - 10 เมษายน 2564

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ได้เตรียมเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา 5 ประเด็นสำคัญ ต่อสภาฯ ในวันที่ 7 เม.ย. 2564 นี้ 

1 ใน 5 ประเด็น ที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอน่าสนใจคือ 

ประเด็นที่ 1 แก้ไขระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว หรือ จัดสรรปันส่วนผสม เป็นการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ประกอบด้วย ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

นายไพบูลย์ ให้เหตุผลสำคัญที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอแก้ “ระบบเลือกตั้ง” จากเลือกตั้งใช้บัตรใบเดียว เป็นใช้บัตร 2 ใบ ว่า “เป็นไปตามความเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 ของส.ส.ในสภาฯ ที่ต้องการให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” 

สำหรับท่าที่ของพรรคการเมืองอื่น ที่ต้องการเตรียมเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง ให้มี “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” คือ “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” 

เพราะระบบนี้เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหญ่ แต่สำหรับพรรคขนาดกลาง และ พรรคเล็ก ย่อมเสียเปรียบ เพราะจะไม่มีการปัดเศษตอนคำนวณคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อเหมือนบัตรใบเดียว

สำหรับรายละเอียดของระบบเลือกตั้ง ที่ใช้บัตร 2 ใบ ตามร่างแก้ไขที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอนั้น ระบุว่า พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยเขต ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ 

ส่วนการคำนวณสัดส่วนผู้ได้เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรค พรรคใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ถือว่าไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

การเสนอแก้ไขให้ใช้ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ มาจาก “บทเรียน” การเลือกตั้ง เมื่อ 24 มี.ค.2562 ผ่านมา ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ “พรรคอนาคตใหม่” ในขณะนั้น ก่อนเปลี่ยนเป็น “ก้าวไกล” ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นกอบเป็นกำ จากกระแสนิยม “คน รุ่นใหม่” 

ขณะเดียวกัน ระบบ “เลือกตั้งบัตรใบเดียว” ยังทำให้ “พรรคเล็ก” ได้ที่นั่งส.ส.เข้าสภาฯ กันเป็นทิวแถว เมื่อได้ “เข้าร่วมรัฐบาล” ก็มักต่อรองผลประโยชน์ เรียกร้องอะไรต่างๆ จนเกิดปรากฏการณ์ “คนเลี้ยงลิง” ด้วย “กล้วย” ขึ้นอยู่เป็นประจำ 

ดังนั้น การใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จึงต้องการปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น โดยให้ประชาชนสามารถ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ได้ตามต้องการ

 

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้วิเคราะห์ ถึงข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า มีจุดเน้นสำคัญอยู่ที่แก้บัตรเลือกตั้งจากใบเดียวเป็น 2 ใบ เปลี่ยนแปลงสัดส่วน ส.ส.เขตต่อบัญชีรายชื่อ เป็น  400 ต่อ 100 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครอย่างน้อย 100 เขต และต้องมีคะแนนขั้นตํ่าไม่ตํ่ากว่าร้อยละหนึ่งของคะแนนเสียงทั้งประเทศ จึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ทั้งหมดเป็นความฝันหวานของพลังประชารัฐ ที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อความได้เปรียบของพรรคใหญ่ ซึ่งในวันนี้ พลังประชารัฐมาถึงจุดนั้นแล้ว 

และภายใต้การออกแบบใหม่นี้ หากดูจากคะแนนเสียงของพรรคที่มีในปัจจุบัน จะเหลือพรรคการเมืองเพียง 11 พรรค ที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคปัดเศษทั้งหลายจะ “สูญพันธุ์” หรือ แม้พรรคที่มีชื่อเสียงเดิม เช่น ชาติพัฒนา พลังท้องถิ่นไทย รักษ์ผืนป่าประเทศไทย ก็จะไม่มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

 

เลือกตั้งบัตร 2 ใบ พรรคใหญ่ตีปีก ‘พรรคเล็ก’สูญพันธุ์

 

ข้อเสนอทั้งหมด จึงไม่ได้มองประโยชน์ต่อการเมืองไทยที่ยั่งยืน แต่เป็นข้อเสนอชั่วคราวบนพื้นฐานสถาน การณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปเท่านั้น 

นายสมชัย ชี้ว่า  ด้วยเสียงของพรรคพลังประชารัฐ และการสนับสนุนอย่างเป็นเอกภาพของ ส.ว. การรับหลักการในวาระที่ 1 นั้น คงไม่ยาก ซึ่งหากรับหลักการแล้วในวาระที่ 2 ขั้นการแปรญัตติ ด้วยสัดส่วน กมธ.ที่ฝ่ายตนเองมีมากกว่า ก็ไม่น่ามีปัญหา  

 

จนเมื่อเข้าสูู่การลงมติในวาระที่ 3 ด้วยเงื่อนไขที่เขียนให้ยุ่งยากเองในมาตรา 256 (6)  ว่า นอกจากจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และมี ส.ว.ร่วมสนับสนุนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3  หรือราว 84 คนแล้ว ยังต้องมีจำนวน ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ ประธาน รองประธานรัฐสภา ร่วมเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือ คำนวณเป็นตัวเลขประมาณ 50 คน ถึงเวลานั้นอย่าหวังว่าจะได้คะแนนจากพรรคปัดเศษ และพรรคฝ่ายค้าน 

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ฤทธิ์เดชมาก รู้ไว้ด้วย ทีใครทีมัน เมื่อไม่แก้ทั้งฉบับก็ตายไปด้วยกัน” นายสมชัย ระบุ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในระบบเลือกตั้งจาก “บัตรใบเดียว” เป็น “บัตร 2 ใบ” พรรคใหญ่ได้เปรียบ พรรคเล็ก “สูญพันธุ์” 

หากเกิดขึ้นจริง โอกาสที่จะเห็น “พรรคเล็ก” ยุบไปรวมกับ “พรรคใหญ่” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็น่าจะมีให้เห็น และไม่จำเป็นต้อง “แตกแบงก์พัน” อีกต่อไป