สินเชื่อบ้านแลกเงิน ตัวช่วยปลดหนี้บัตรเครดิต

05 เม.ย. 2564 | 22:41 น.

สำหรับคนเป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ด้วย “สินเชื่อบ้านแลกเงิน" โดยใช้บ้านเป็นหลักประกัน ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกกว่า ช่วยลดภาระรายจ่ายหนี้ต่อเดือนลง


ในปัจจุบันการทำบัตรเครดิตเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท ก็สามารถมีบัตรเครดิตได้แล้ว แม้บัตรเครดิตจะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายแทนการถือเงินสด อยากจะซื้ออะไรก็เพียงแค่รูดบัตรเท่านั้น ซึ่งหากเราใช้และจ่ายเต็มทุกยอดที่เรียกเก็บ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเราใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต แล้วไม่สามารถจ่ายยอดเต็มจำนวนได้ ยอดคงค้างนั้นจะกลายเป็น “หนี้” ทันที ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตค่อนข้างสูง คือ 15-18% ต่อปี หลายคนมีภาระหนักจากการจ่ายหนี้บัตรเครดิตในแต่ละเดือน ทำให้ต้องจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ เมื่อจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ หนี้ก็ไม่หมดสักที เพราะหากจ่ายขั้นต่ำ ทุกๆ เดือน หนี้คงค้างก็จะถูกคิดดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ

วันนี้ผมมีวิธีการในการช่วยบริหารจัดการหนี้มาฝาก สำหรับคนเป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีบ้าน หรือคอนโดมิเนียมเป็นของตัวเอง เพราะต้องใช้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน

สินเชื่อบ้าน มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต และสามารถผ่อนชำระได้ระยะเวลาที่ยาวนาน เพราะเป็นสินเชื่อมีหลักประกัน สถาบันการเงินสบายใจกว่า ก็เลยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าสินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน

ซึ่งวิธีการที่แนะนำ เรียกว่าการรวมหนี้ทั้งหมดมาเป็นก้อนเดียว โดยใช้บ้าน หรือคอนโดมิเนียมเป็นหลักประกัน ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ทำให้ลดภาระรายจ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งแบ่งได้ 2 วิธี คือ

1. การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ด้วย “สินเชื่อบ้านแลกเงิน (Home for Cash)” 

วิธีการนี้ คือการนำบ้าน หรือคอนโดมิเนียมที่ปลอดภาระสินเชื่อ ไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินไปปิดหนี้ต่างๆไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือหนี้อื่นๆ โดยอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินคิดจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต เพราะมีบ้านหรือคอนโดมิเนียมเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และยังผ่อนได้นาน 10-20 ปีอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น หากเรามีหนี้บัตรเครดิตหลายใบรวมกัน 300,000 บาท จ่ายขั้นต่ำเดือนละ 30,000 บาท (ดอกเบี้ย 15-18% ต่อปี) ถ้ารีไฟแนนซ์บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อบ้านแลกเงิน จะสามารถปิดหนี้บัตรทั้งหมด และผ่อนคืนธนาคารเริ่มต้นเพียงเดือนละ 3,293 บาทเท่านั้น (ดอกเบี้ย 5.75% ต่อปี)

ซึ่งจะเห็นได้ว่าการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ด้วย “สินเชื่อบ้านแลกเงิน” ทำให้ภาระการจ่ายหนี้บัตรเครดิตต่อเดือนลดลงค่อนข้างมาก ทำให้เรามีสภาพคล่องที่ดีขึ้น แต่ก่อนจะขอสินเชื่อบ้านแลกเงินก็ต้องเปรียบเทียบธนาคารที่ให้เงื่อนไขระยะเวลาการผ่อนชำระที่เหมาะกับเราและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดด้วย

2. การรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อนำส่วนต่างมาปิดหนี้บัตรเครดิต 

วิธีนี้หากเรามีบ้าน หรือคอนโดมิเนียมที่ยังมีภาระอยู่กับสถาบันการเงิน เมื่อเราผ่อนมาระยะเวลาหนึ่ง (มากกว่า 3 ปี) ส่วนของเงินต้นจะลดลง และหากที่อยู่อาศัยของเราอยู่ในสภาพและทำเลที่ดีราคาประเมินใหม่มักจะมีมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น เราก็สามารถที่จะทำการรีไฟแนนซ์บ้านกับสถาบันการเงินใหม่ แล้วขอสินเชื่อแบบเต็มวงเงินหรือมากที่สุดของราคาบ้าน ก็จะได้เงินสดส่วนต่างระหว่างเงินกู้ยืมก้อนใหม่กับเงินกู้ของธนาคารเดิมที่ติดค้างไว้ เพื่อนำส่วนต่างมาปิดหนี้บัตรเครดิตได้

การรีไฟแนนซ์บ้านยังทำให้เราได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือได้ลดภาระดอกเบี้ยบ้าน และได้ปิดหนี้บัตรเครดิต ดอกเบี้ยในการทำรีไฟแนนซ์ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 2-4% ต่อปี ในขณะที่ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคือ 15-18% ต่อปี

 

สินเชื่อบ้านแลกเงิน ตัวช่วยปลดหนี้บัตรเครดิต

 

ยกตัวอย่าง ท่านมีภาระหนี้บ้านคงค้างกับธนาคาร 2 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5% ต่อปี ผ่อนเดือนละ 10,736 บาท ราคาประเมินปัจจุบัน 3 ล้านบาท และมีหนี้คงค้างบัตรเครดิตกับธนาคาร 3 แสนบาท จ่ายขั้นต่ำเดือนละ 30,000 บาท และถูกคิดดอกเบี้ย 15 % ต่อปี หากนำบ้านไปรีไฟแนนซ์ รวมหนี้ทั้งหมดเป็นก้อนเดียวจะกลายเป็น 2.3 ล้านบาท หากเลือกผ่อน 30 ปี จะผ่อนธนาคารเริ่มต้นเพียงเดือนละ 9,697 บาท (ดอกเบี้ย 3% ต่อปี)

แต่การทำรีไฟแนนซ์ย่อมมีค่าใช้จ่าย โดยทั่วไปจะมีค่าธรรมเนียมการจดจำนองที่กรมที่ดิน 1% ของมูลค่า ค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน (ตัวบ้าน คอนโดมิเนียม) ค่าทำสัญญาสินเชื่อ ค่าอากรสแตมป์ บางธนาคารอาจมีข้อเสนอยกเว้นค่าธรรมเนียมพวกนี้ให้ฟรี โดยขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของธนาคารในช่วงเวลานั้นๆ

สุดท้าย อย่าลืมว่าสินเชื่อบ้านแลกเงิน หรือการนำเอาบ้าน คอนโดมิเนียมไปรีไฟแนนซ์ไม่ได้ทำให้หนี้หายไป เรายังคงเป็นหนี้อยู่ เพียงแต่เป็นการช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ย ทำให้ยอดผ่อนชำระหนี้ต่างๆ ต่อเดือนคล่องตัวขึ้น ดังนั้นเราก็ควรจะต้องผ่อนชำระให้ตรงเวลา เพราะหากผิดนัดเราอาจจะสูญเสียบ้านไป และอย่ากลับไปก่อหนี้จนทำให้ภาระหนี้มากระทบกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของเรา

 

โดย : ธีรพัฒน์ มีอำพล นักวางแผนการเงิน CFP®  สมาคมนักวางแผนการเงินไทย www.tfpa.or.th