CMMU จับมือ คณะแพทย์ฯ ศิริราช พลิกโฉมหลักสูตรแพทย์ ชู “ไฮบริดโปรแกรม” เรียน 6 ปี รับปริญญา 2 ใบ

02 เม.ย. 2564 | 21:30 น.

วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล จับมือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พลิกโฉมหลักสูตรแพทย์ เรียน 6 ปี รับ 2 ปริญญา ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ จบหมอ พ่วง การจัดการมหาบัณฑิต การันตีทุกหลักสูตรผ่านการรับรองมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติ (AACSB)

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โดย รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ลงนามบันทึกข้อตกลงเรื่องความร่วมมือทางการศึกษาและการผลิตมหาบัณฑิตเพื่อออกแบบและพัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาอื่นให้กับนักศึกษาแพทย์ที่สนใจและมีศักยภาพสูงได้เรียนควบคู่กับการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยมี ศ.พญ. สุวรรณี สุรเศรณีวงศ์ รองคณบดีและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช พร้อมด้วยผู้บริหารคณะฯ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช

ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โลกศตวรรษที่ 21 เผชิญกับพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่โหมกระหน่ำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น Globalization เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่แล้ว ผลที่มองเห็น คือ โควิด-19 การติดเชื้อจากที่หนึ่ง แล้วแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว การจัดการกับสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด Digitalization คือ พายุลูกที่สอง ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่สำคัญ ระบบบริการสุขภาพจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้อง โดยข้อมูลนั้นควรมาถึงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับคณะและวิทยาลัยอื่น ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือครั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องจะร่วมกันสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่มีคุณค่า ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและของโลก

ในปัจจุบันจะเห็นชัดเจนว่า เราสมควรผลิตแพทย์ที่มีความรู้หลากหลายมากขึ้น เป็นแพทย์ที่รู้จักการจัดการที่ดี มีความสามารถในการเข้าถึง และแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมายอย่างถูกต้องในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งการแพทย์ไม่สามารถแยกออกจากระบบบริการสาธารณสุขได้ นักศึกษาแพทย์ควรเพิ่มเติมความรู้ในศาสตร์อื่น เพื่อทำให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยดีขึ้น

หลักสูตรใหม่ปี 2564 นี้ถูกออกแบบให้เป็น Flexible program คือ นักศึกษาสามารถเลือกเรียนรายวิชาต่าง ๆ ทั้งการแพทย์ และสาขาอื่นที่สนใจ โดยเรียกหลักสูตรนี้ว่า Hybrid Program 61  (ไฮบริดโปรแกรม 6 ยกกำลัง 1)  นั่นคือ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์ที่มุ่งมั่นทุ่มเทและมีศักยภาพสูง สามารถเลือกเรียนสาขาอื่นในระดับปริญญาโทตามที่สนใจระหว่างเรียนแพทย์ควบคู่ไปได้อีก 1 สาขา โดยสามารถเรียนจบทั้ง 2 ปริญญา ได้ในเวลา 6 ปีเท่าเดิม

รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ

ด้าน รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ กล่าวถึงการผลิตแพทย์และมหาบัณฑิตสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพว่า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเรื่องความร่วมมือทางการศึกษาและการผลิตมหาบัณฑิตระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และวิทยาลัยการจัดการ

เป้าหมายเพื่อสร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถอย่างลึกซึ้งในศาสตร์ด้านการจัดการ เพื่อสร้างผลงานที่ดี อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการทางการแพทย์ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม สาธารณชน และประเทศ ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนด้วยการจัดการที่ทันสมัย

สำหรับหลักสูตรนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้วิชาของการจัดการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการตลาด การเงิน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารกลยุทธ์ การบริหารข้อมูลและเทคโนโลยี และวิชาเลือกเฉพาะสาขา อาทิ Healthcare Business Analytics and Data Science, Innovation and Change Management for Healthcare Business และ Logistics and Supply Chain Management for Healthcare Business เป็นต้น ทุกหลักสูตรของวิทยาลัยการจัดการได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับนานาชาติ AACSB ซึ่งเป็นสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีทั่วโลก ที่ CMMU เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง รวมทั้งการมีส่วนเข้าไปเรียนรู้จากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างวิทยาลัยการจัดการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการผลิตมหาบัณฑิตครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้เรียน และผู้ที่เรียนจบจากหลักสูตรร่วมนี้ จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ มีความคิดริเริ่ม มีความสามารถในการปรับตัว และแก้ไขปัญหาได้ดี เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหลักสูตรใหม่นี้จะเริ่มใช้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2564 นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ม.มหิดล พัฒนาระบบการเรียนออนไลน์สู่มาตรฐานโลก

ม.มหิดล ประกาศงดรับทุนทุกรูปแบบจากบริษัทบุหรี่และเครือข่าย

ปตท.ผนึกม.มหิดลวิจัย-พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

'เนชั่น' เปิดหลักสูตร DTC รุ่น 3 แล้ว เรียนรู้พาองค์กรสู้ 'ดิจิทัล ดิสรัปชั่น'

ซีพีผนึกหอการค้าฯติวเข้ม “นักบิน-แอร์” ลุยสร้างธุรกิจใหม่