เชฟรอนขวางPTTEP เสียหาย 2.6 แสนล้าน

25 มี.ค. 2564 | 19:35 น.

เชฟรอนฯขวางปตทสผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ ทำประเทศเสียหายกว่า 2.6 แสนล้าน ติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมไม่ได้ ปริมาณก๊าซหาย 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาเสริม ภาครัฐทนไม่ไหว งัดข้อกฎหมายในสัญญาสัมปทานบีบ ยึดเงินประกันค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจ

ลือสะพัดถึงเหตุผลที่บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ของสหรัฐอเมริกา ไม่ยอมให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิต วางท่อ การเจาะหลุมผลิตบนแท่นที่ติดตั้งใหม่ และการเชื่อมต่อระบบ โดยใช้เรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเป็นเครื่องต่อรอง หากไม่ดำเนินการซื้อแห่งสัมปทานที่มีอยู่ เช่น เอราวัณ ไพลิน ยุงทอง ทานตะวัน เบญจะมาศ ลันตา สุรินทร์ ในราคาที่เสนอมา จะส่งผลให้การผลิตก๊าซฯตามสัญญาพีเอสซีนับจากวันที่ 24 เมษายน 2565 ต้องสะดุด หรือไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่องตามสัญญาที่ระบุไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ และต้องจ่ายค่าปรับให้กับผู้รับซื้อก๊าซ กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

 

ก๊าซหาย300ล้านลบ.ฟุต/วัน

แหล่งข่าวจากวงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลการเจรจาระหว่างปตท.สผ.และเชฟรอนฯ ยังไม่ไดข้อยุติในการเข้าพื้นที่ติดตั้งแท่นหลุมผลิต ที่จะรักษากำลงการผลิตก๊าซให้เป็นไปตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อได้ และคาดว่าจะทำให้การผลิตก๊าซฯจากหลุมผลิตเดิมที่มีอยู่จะผลิตก๊าซได้เพียง 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯหายไปราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และกว่าจะกลับมาผลิตก๊าซฯได้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 เดือนถึง 12 เดือน

ทั้งนี้ สิ่งที่กระทรวงพลังงานกังวลมากที่สุด จากปริมาณก๊าซที่หายไป 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี ที่จะผลิตก๊าซขึ้นมาให้ครบตามสัญญาได้นั้น จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนกว่า 2 ล้านตันต่อปี หากคำนวณราคาก๊าซแอลเอ็นจีที่นำเข้ามาในช่วงนั้นอยู่ที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู (มกราคม 2564 อยู่ที่ 16.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู) จะส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการซื้อแอลเอ็นจีเข้ามาไม่ต่ำกว่า 2.64 แสนล้านบาทต่อปีเมื่อเทียบกับผลิตก๊าซขึ้นมาได้อีก 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มีมูลค่าราว 9.8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีดังกล่าวจะเป็นภาระต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่แพงขึ้น


เชฟรอน

กระทบจัดเก็บเงินเข้ารัฐ

นอกจากนี้ ปริมาณก๊าซที่หายไปจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐที่หายไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าภาคหลวงปิโตรเลียมในอัตรา 10% ของผลผลิตรวม ส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่า 50% หลังหักค่าใช้จ่าย และยังมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอีก 20% ของกำไรสุทธิ เป็นต้น

อีกทั้ง ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในอ่าวไทย เป็นก๊าซเปียก หรือ Wet Gas ที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หากก๊าซในปริมาณดังกล่าวไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขาดแคลนวัตถุดิบไปส่วนหนึ่ง รวมถึงการผลิตก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี ที่ลดลง อาจจะต้องมีการนำเข้ามาทดแทนเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญจากการไม่สามารถเข้าติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมได้ทันระยะเวลาก่อนสิ้นสุดสัมปทาน และต้องใช้ระยะเวลาเข้าติดตั้งเกือบ 1 ปี มีโอกาสที่จะทำให้ปริมาณก๊าซ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ได้อีกเลย เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับแหล่งผลิต Rokan.ในอินโดนีเซีย เนื่องจากแหล่งเอราวัณมีหลุมผลิตจำนวนหนึ่งที่ต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มแรงดัน เพื่อให้สามารถนำก๊าซขึ้นมาได้ เมื่อเข้าติดตั้งไม่ได้ก็จะส่งผลให้ปริมาณก๊าซที่เหลือยู่ในหลุมผลิตหายไป เท่ากับเป็นการสูญเสียทรัพยากรของประเทศไป และหากจะผลิตขึ้มาจะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง

 

งัดกฎหมายเอาผิด

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทางกระทรวงพลังงานทราบถึงความเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับประเทศ จึงพยายามเร่งรัดให้เชฟรอนฯ ยอมที่จะให้ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้มองว่าโอกาสเข้าพื้นที่ได้และทำให้การผลิตก๊าซไม่สะดุดลงช่วงรอยต่อมีเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งได้มอบหมายกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปศึกษาข้อกฎหมายว่าจะมีช่องทางที่จะเร่งรัดในเรื่องนี้ได้อย่างไร

ล่าสุดได้ยื่นหนังสือไปให้บริษัทแม่ของเชฟรอนฯ แล้ว โดยอ้างอิงถึงข้อสัญญาสัมปทานข้อ 11 เรื่องข้อผูกพันและหน้าที่ของผู้รับสัมปทาน (2) ว่าด้วยผู้รับสัมปทานจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะไม่ใช้วิธีประกอบกิจการปิโตรเลียมใดๆ ซึ่งขัดต่อสาธารณประโยชน์หรือกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจหรือประโยชน์สุขของประชาชน และในกรณีที่ประกอบกิจการปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณประโยชน์หรือประชาชน ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่บำบัดปัดป้องและแก้ไขความเสียหายนั้นโดยทันที

ทั้งนี้ การหยิบยกสัญญาสัมปทานดังกล่าวขึ้นมา เพื่อต้องการให้เชฟรอนฯ เร่งหาข้อยุติในการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพราะการขัดขวางปตท.สผ.เข้าพื้นที่ดังกล่าว เท่ากับเป็นการสร้างความเสียหายกับประเทศและกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจหรือประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งหากเชฟรอนฯไม่ดำเนินการ ทางภาครัฐมีสิทธิที่จะยึดหลักกรมธรรม์ประกันภัยและหลักฐานการชำระเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายทุกปี ซึ่งกำหนดไว้เป็นพันธะในการบำบัดปัดป้องและแก้ไขความเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้น ขณะนี้รอเพียงบริษัทแม่เชฟรอนฯตอบรับในการเจรจากลับมา

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564